3 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ ตลาดคลองด่าน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง พร้อมมอบเครื่องมือประมงใช้จับปลาหมอคางดำ โดยได้พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ ว่า
ได้มีการตรวจสอบไปหลายที่จากกรณีที่พี่น้องประชาชนบอกว่า มีขั้นตอนหลายอย่างในการที่จะเข้าร่วมโครงการกระทรวงเกษตรฯ ตั้งค่าหัวล่าปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยกระทรวงเกษตรฯร่วมด้วยช่วยกันทั้ง 22 หน่วยงาน เราเปิดกว้างไม่ว่าคุณจะเป็นใครเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง อายุเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าคุณมีความสามารถจับปลาหมอคางดำได้มากเท่าไหร่ เรามีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 73 จุด โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องผ่านกระบวนการมากมายอย่างที่เป็นข่าว
“ผมมาวันนี้เพื่อจะมาขอความร่วมมืออีกครั้ง และผมเชื่อว่าวันนี้จะไม่ใช่วันสุดท้าย ผมในฐานะตัวแทนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องที่เป็นชาวประมงมาร่วมจับปลาหมอคางดำกับพวกเรา เพราะปัญหาปลาหมอคางดำเป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ถ้าเรายังปล่อยให้มีการระบาด นั่นหมายความว่า เราจะส่งต่อมรดกที่เรียกว่าปลาหมอคางดำสู้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป” นายอรรถกร กล่าว
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคนี้ ไม่ว่าเป็นกรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ดี กรมพัฒนาที่ดิน กรมการเกษตร การยาง หรือแม้กระทั่ง หน่วยงานอื่นๆ เราทำงานร่วมกัน
ในส่วนของกรมประมงจังหวัดสมุทรปราการ ตนขอเรียนว่า ท่านทำงาน ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ท่านต้องประสานกับหน่วยงาน ในพื้นที่ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด และตนได้รับการยืนยันจาก นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากพื้นที่ใดมีการชุกชุมของปลาหมอคางดำ ท่านประสานเข้าไปขอกำลังทหารเพื่อมาช่วยจับได้
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าอีก 1-2 เดือน เมื่อเรามาประเมินสถานการณ์การปลาหมอคางดำจะต้องดีขึ้น ถ้าพวกเราช่วยกันก็จะแก้ไขปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้นายอรรถกร ยังได้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติการลงแขกลงคลอง เพื่อจับปลาหมอคางคำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยชี้ให้เห็นว่ายอมรับตรงๆ ว่า วันแรกของโครงการก็คือ วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา อาจจะยังมีความไม่เข้าใจ หรืออาจจะเกิดความบกพร่องในเรื่องของการสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงทำให้พี่น้องยังไม่มีความมั่นใจว่า จับมาแล้วจะเอาไปแลกเป็นเงินค่าหัวที่ ร.อ.ธรรมนัส ประกาศไว้ว่า กิโลกรัมละ 15 บาท ได้หรือไม่
ซึ่งขอยืนยันว่า เรายินดี รับทุกกิโล เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการที่จะนำปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากที่สุด โดยไม่มีกระบวนการยุ่งยาก เราโดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดําทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 – 31
สิงหาคม 2567
สําหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัด มีดังนี้ จังหวัดจันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด จังหวัดระยอง 2 จุด จังหวัด
ฉะเชิงเทรา 3 จุด จังหวัดสมุทรปราการ 6 จุด จังหวัดนครปฐม 1 จุด จังหวัดนนทบุรี 1 จุด จังหวัดสมุทรสาคร 6 จุด จังหวัด สมุทรสงคราม 3 จุด จังหวัดราชบุรี 1 จุด จังหวัดเพชรบุรี 10 จุด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด จังหวัดชุมพร 14 จุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด และจังหวัดสงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ
โดยผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ไม่มีหลักเกณฑ์กําหนดในการรับซื้อ สามารถนํามาขาย ณ จุดรับซื้อต่าง ๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จํากัดจํานวน แต่หากเกษตรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา (ทบ. 1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป
นายอรรถกร ยังกล่าวถึงงบประมาณที่จะนำไปใช้ในโครงการรับซื้อปลาหมอคาง เราได้รับความร่วมมือจากการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะใช้เงินทุน ที่ไม่ใช่เงินกองทุนที่เขาจะนำไปใช้ช่วยเหลือพี่น้อง ชาวสวนยาง แต่ตอนนี้เราใช้เงินทุนของการยาง เบื้องต้นจะใช้ 50 ล้าน ในการที่จะระดมนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด แล้วนำไปทำอย่างอื่น โดยเชื่อว่าการนำไปแปรรูปก็จะเป็นประโยชน์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯได้ประกาศ 7 มาตรการ เพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำของกระทรวงเกษตรประกอบด้วย
1. จำเป็นต้องกำจัดและนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศของไทยให้มากที่สุด
2. มาตรการรอการกำจัด โดยต้องรอให้ปลาหมอคางดำลดลง หลังจากนั้นจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดโดยการปล่อยปลานักล่าลงไป อาทิ ปลากะพง ปลาอีกง ที่เราเชื่อว่าในช่วงเวลาที่เหมาะและพื้นที่ที่เราศึกษามาแล้ว โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ปลานักล่าไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น
3. นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปใช้เรื่องอื่นๆ โดยตั้งเป้าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้าเราจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม
4. มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น
5. ทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด
6. ใช้การวิจัย นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม จาก 2n เป็น 4n ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นหมัน และเราจะใช้ฟีโรโมน หรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดทางเพศ ในการนำแสงสีไปล่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อหมึก
7. การฟื้นฟู กระทรวงเกษตรฯ จะต้องไปศึกษาแหล่งน้ำที่เราพบปลาหมอคางดำ ในปัจจุบันมีปลา ปู กุ้ง หอย อะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อคืนระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมา