เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ว่า ในขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง พี่น้องประชาชนล้วนแต่ประสบปัญหาปากท้อง สาเหตุที่สําคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีการเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้าไปมากกว่า 6 เดือน
การใช้จ่ายงบประมาณเป็นหนึ่งในการลงทุนภาครัฐที่มีความสําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง 4 เครื่องยนต์เศรษฐกิจประกอบด้วย เครื่องยนต์ที่หนึ่ง คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งงบประมาณรายจ่ายได้ล่าช้าไป 6 เดือน จึงกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชน เครื่องยนต์ที่สอง คือการลงทุนภาคเอกชน เครื่องยนต์ที่สาม คือการบริโภคของประชาชน และเครื่องยนต์สุดท้ายภาคการส่งออก
เมื่อเครื่องยนต์ที่สำคัญคือการลงทุนภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเงินที่รัฐบาลเคยอุดหนุนให้ผ่านสวัสดิการแห่งรัฐในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะใช้จ่ายในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่กลับไม่มีการจ่ายตามวงรอบ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ ขาดปุ๋ยมา 6 เดือน แม้ว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ออกมาเป็นกฎหมายในวงเงิน 3.4 ล้านล้านบาทแล้ว โดยมีงบลงทุนถึง 7.1 แสนล้านบาท แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายกว่าเงินจากการลงทุนภาครัฐจะลงไปถึงพี่น้องประชาชน จึงจำเป็นต้องเร่งให้เงินลงสู่มือพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ การเร่งให้เงินถึงมือของพี่น้องประชาชนที่กล่าวมานั้น หมายถึงสิ่งที่รัฐบาลได้เสนอมาผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท หากรอกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวย่อมใช้ระยะเวลา ซึ่งวงเงินใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการเร่งให้เงินถึงมือของพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว จึงขอเสนอให้รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมกับโครงการประกันรายได้ซึ่งมีฐานข้อมูลของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์ม เพราะหากการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแบบปูพรมหรือที่สื่อมวลชนเรียกว่าหว่านแหในการเร่งให้เงินถึงมือประชาชนเมื่อตกไปอยู่ในมือของผู้มีฐานะจะทำให้เงินเหล่านี้เป็นเงินออมซึ่งไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดีผมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย