“ไอติม” ก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ “เราสูญเสียอะไรไปบ้าง? จากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อดิจิทัลวอลเล็ต”

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 (งบกลางปี) เป็นคนสุดท้ายของพรรคก้าวไกล โดยกล่าวถึงสิ่งที่ประเทศและประชาชนต้องเสียไปจากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

ผ่านไปไม่ถึง 4 เดือนหลังสภาฯ อนุมัติงบประมาณปี 2567 ด้วยกรอบวงเงินถึง 3.4 ล้านล้านบาท นายกรัฐมนตรีกลับมาขอให้สภาฯ เติมเงินเพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาทผ่านการออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับนำไปทำดิจิทัลวอลเล็ต และเข็นให้นโยบายนี้เกิดขึ้นให้ได้

นายพริษฐ์ย้ำว่า โจทย์ในวันนี้ไม่ใช่การลงมติเพื่อวินิจฉัยว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ เพราะทุกคนล้วนทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยนั้นซบเซา เสมือนคนป่วยที่ต้องการยารักษาระยะสั้นและแผนฟื้นฟูระยะยาว ไม่ใช่การลงมติเพื่อทำนายว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายดีหรือแย่แค่ไหน การโยนเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ย่อมทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุ้นขึ้นมาในระดับหนึ่งเป็นแน่

ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องตั้งคำถามมากที่สุดในวันนี้ คือการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าที่สุดแล้วหรือไม่

ในมุมของพรรคก้าวไกล ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ขนาดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นเพียง “ลมพัดวูบ” มากกว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจจะกระจุกอยู่กับแค่บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ ผ่านการออกแบบเงื่อนไขเกี่ยวกับการแปลงเป็นเงินสดที่กลายเป็นกีดกันร้านค้ารายย่อย ความยั่งยืนของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นไปอย่างจำกัด เพิ่มได้แค่การบริโภคระยะสั้น แต่ไม่นำไปสู่การลงทุนที่ส่งผลระยะยาว

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ราคาที่ประเทศต้องจ่ายจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นโดยตรงอย่างน้อย 2.64 แสนล้านบาทจากการเบ่งงบประมาณ 2 ปีติดเพื่อกู้เงินมาทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยังหมายถึงค่า “เสียโอกาส” ที่ประเทศต้องจ่ายตั้งแต่วันนี้ ในรูปแบบของนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่รัฐบาลต้องตัดออกไป มูลค่ารวมกัน 1.75 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอในการทำนโยบายอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยเองก็เคยได้สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งอาจเข้าท่าและช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดกว่าดิจิทัลวอลเล็ตด้วยซ้ำ

จากเอกสารนโยบายที่พรรคเพื่อไทยส่งให้กับ กกต.อย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้ง นอกเหนือจากดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้มีการเสนอนโยบายไว้ทั้งหมดอีก 69 ข้อ ซึ่งจะต้องมีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมกันอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท

แต่วันนี้ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถหางบประมาณสำหรับทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เหมือนกับที่เคยระบุกับ กกต.และประชาชนไว้ คือ 2.6 แสนล้านบาทจากรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 และอีก 1 แสนล้านบาทจากภาษีที่ได้กลับมาจากผลคูณทางเศรษฐกิจของดิจิทัลวอลเล็ต

ผลที่ตามมาก็คือการจำเป็นต้องตัดงบประมาณในนโยบายอื่นๆ ของตัวเอง เพื่อเก็บเงินทุกบาทมาเทหมดหน้าตักกับดิจิทัลวอลเล็ตและรักษาหน้าตัวเอง แม้อาจจะต้องแลกมาด้วยความลำบากของประชาชนทั่วประเทศก็ตาม โดยพริษฐ์ขอยกตัวอย่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย 3 ด้านที่อาจต้องสูญเสียไป คือการศึกษา พลังงาน และรัฐสวัสดิการ

Written By
More from pp
อธิบดี พส. งัดมาตรการดูแลคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ สู้ภัยโควิด-19
วันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 14.00 น. นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อพส.) กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)...
Read More
0 replies on ““ไอติม” ก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ “เราสูญเสียอะไรไปบ้าง? จากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อดิจิทัลวอลเล็ต””