ผักกาดหอม
วานนี้ (๑๓ พฤษภาคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์พระ ๒ รูป
ในหลวง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงในสมณคุณ มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา สมควรจะได้เลื่อนอิสริยฐานันดรในสมณศักดิ์สูงขึ้นมีอยู่
๑.พระธรรมพัชรญาณมุนี ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมพัชรญาณมุนี ศรีวิปัสสนาธุราจารย์ ไพศาลวิเทศศาสนกิจ วิสิฐสีลาจารดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม ตามวาสี สถิต ณ สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป
๒.พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ขึ้นเป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ พุทธพจนวราลังการ ไพศาลวิเทศศาสนคุณ วิบุลประชาสังคหกิจ ปฏิภาณธรรมวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป
พระทั้ง ๒ รูปท่านเป็นชาวต่างชาติโดยกำเนิด
พระพรหมพัชรญาณมุนี หรือ พระอาจารย์ชยสาโร สถานพำนักสงฆ์บ้านไร่ทอสี จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นชาวอังกฤษ แปลงสัญชาติเป็นไทย เป็นกรณีพิเศษ เมื่อปี ๒๕๖๓ มานี่เอง
เหตุผลการแปลงสัญชาติที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อธิบายไว้ว่า ได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย แตกฉานในพระธรรมคำสอน
มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ กับเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติมาก่อน ถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษต่อประเทศไทยและพระพุทธศาสนา
ส่วน พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ หรือ ท่านเจ้าคุณอนิลมาน วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙) ท่านเป็นชาวเนปาล
ท่านได้ยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติได้เมื่อปี ๒๕๕๘
สัปดาห์ก่อน สังคมไทย วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “พอเพียง” เพราะสังคมมีความขัดแย้งทางความคิด จึงมอง “พอเพียง” ไปคนละทาง
บางฝ่ายอ้างอิงความชอบทางการเมือง เพื่อด้อยค่า “พอเพียง”
อีกฝ่าย มองว่าการพูดเรื่อง “พอเพียง” มีเจตนาบูลลีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ไม่มีทางใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้
มีเทศนาของท่านเจ้าคุณอนิลมาน เรื่องธรรมะของพระราชา เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปี วันสวรรคต เมื่อปี ๒๕๖๐ กล่าวถึง เศรษฐกิจพอเพียง ในแง่มุมที่คนรุ่นใหม่ควรศึกษาเป็นความรู้
“…เศรษฐกิจพอเพียงนั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงน้อมนำเอาพระพุทธดำรัสหรือพุทธภาษิตหรือธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ในรูปของภาษาปัจจุบันหรือคำสมัยใหม่
ซึ่งก็คือคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง
จริงๆ แล้วเศรษฐกิจกับพอเพียงเข้ากันไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจในความหมายปัจจุบันเป็นการสนองตัณหา สนองกิเลส เป็นเรื่องของธุรกิจ การเงิน เรื่องของโลกและเรื่องของฆราวาสวิสัย ซึ่งต้องสนองด้วยกิเลส แต่พอมาดูคำว่า พอเพียง กิเลสมันไม่พอเพียงแน่นอน
ดังนั้นเศรษฐกิจที่พระองค์ทรงใช้ในเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจในความหมายของโลกปัจจุบัน แต่หมายถึงเศรษฐกิจในความหมายของรากศัพท์
รากศัพท์ของเศรษฐกิจในภาษาบาลีไม่ได้ว่าด้วยเรื่องเงินทอง แต่เป็นเรื่องของคุณธรรม เรื่องความประเสริฐ
หากยังจำได้ตอนที่พระพุทธเจ้าประสูติแล้วเดิน ๗ ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เชฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ เสฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ อะยะมันติมา เม ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ คำว่า เสฏโฐ นี่แหละแปลว่าประเสริฐ
ฉันเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
หรือคำว่า เศรษฐี ก็หมายถึงคนที่มีธรรมะในตัวเป็นคนประเสริฐ
เศรษฐกิจมาจาก เสฏฐ กับ กิจ หมายถึงกิจการอันประเสริฐ กิจกรรมอันประเสริฐ
ดังนั้นเศรษฐกิจตามรากศัพท์นี้แหละ คือ คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไม่ใช่เศรษฐกิจในความหมายปัจจุบัน
ส่วนคำว่า พอเพียง ก็คือสันโดษ หรือ สันตุฏฐิ ในภาษาบาลี เพราะฉะนั้นความหมายในคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงในพุทธภาษิต สันตุฏฐิ ปะระมัง ธะนัง ก็คือ ความพอเพียงเป็นทรัพย์อันประเสริฐ
พระพุทธเจ้าใช้คำว่าบรมทรัพย์ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เศรษฐกิจพอเพียงก็อันเดียวกัน
คำว่าพอเพียงหรือสันโดษที่พระเจ้าอยู่หัวใช้ก็ทรงเอามาจากธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ก็คือ ให้ทิ้งทางสุดโต่ง ๒ อย่าง
ให้ดำเนินชีวิตด้วยสายกลาง คือ ด้วยมรรค ๘ ซึ่งสามารถสรุปได้ ๓ อย่าง ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือ ความปกติ ความพอประมาณ
สมาธิ คือ การทำจิตให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ถือเป็นภูมิคุ้มกัน
และปัญญา รู้จริง รู้ทะลุ นี่แหละแก่นของเศรษฐกิจพอเพียง…”
ความพอเพียงเป็นทรัพย์อันประเสริฐ ข้อนี้จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลย
พระอาจารย์ชยสาโร ก็มีคำสอน แฝงแง่คิดในการดำเนินชีวิต ให้เห็นถึงความ “พอดี” กับ “เกินพอ” และผลลัพธ์ที่ออกมา
“…หลวงพ่อชามักจะเตือนพวกเราอยู่เสมอเรื่องเอกลาภ
คือในเมื่อญาติโยมเข้ามาทำบุญที่วัดป่าพงมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านต้องการให้เราระวังเป็นพิเศษไม่ให้หลงอยู่กับความสะดวกสบาย
เรื่องการฉันท่านสอนว่า ‘มีน้อยก็ฉันน้อย มีมากก็ฉันน้อย’
และท่านมักจะเล่าถึงสมัยก่อน ตอนอาหารบิณฑบาตยังขาดแคลนมาก
การที่ได้ฉันทุกวัน ถึงจะเป็นข้าวเปล่าๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉันอะไรเลย
เวลาฉันข้าวเปล่าๆ ทำให้นึกถึงสุนัข
สุนัขของชาวบ้านในที่กันดาร เจ้าของให้มันกินข้าววันละปั้นเล็กๆ เท่านั้น ไม่มีกับอะไร มีแต่ข้าวเปล่าๆ เท่านั้น มันก็ยังไม่ตาย ยังอยู่ได้สบาย แถมยังเป็นสุนัขที่ขยันด้วย
พอมีเสียงอะไรดังกรอบแกรบก็เห่าทันที ตื่นเร็ว เวลาเจ้าของพาไปไล่เนื้อก็วิ่งเร็วด้วย เพราะมันผอม แต่ถ้าสุนัขตัวไหนที่เจ้าของเลี้ยงดูอย่างดี สุนัขตัวนั้นจะขี้เกียจ มีอะไรมาใกล้ก็ไม่ยอมเห่า มีแต่นอนท่าเดียว
แม้มีคนเดินมาใกล้จวนจะเหยียบหัวเอาก็ยังไม่ตื่น…”
ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึง “พอดี” “พอเพียง” อย่ามองแต่เปลือก
เนื้อในคือกฎเกณฑ์ความเป็นจริงเกี่ยวกับโลก และสิ่งที่มนุษย์ต้องเจอ
ไม่รู้จักพอดี ไม่พอเพียง ก็ไม่อาจเป็นเจ้าของทรัพย์อันประเสริฐได้