หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ตัวการทำระบบหายใจล้มเหลว

เจ็บหน้าอกแปล๊บ ๆ เมื่อหายใจ มีไข้ เหนื่อย หอบ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด มักเกิดขึ้นหลังจากที่มีการติดเชื้อ หากไม่รีบรักษาอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

นายแพทย์ชวกร เหลี่ยมไพรบูรณ์ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายมีการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัดรุนแรง หรือปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติเวลาเราหายใจเข้า-ออก ปอดจะมีการขยายตัวและหดตัวได้ดี แต่เมื่อมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดจะเกิดการเสียดสีกับหนอง และถูกหนองกดไว้ทำให้ไม่สามารถขยายและหดตัวได้ดีเหมือนเดิม จึงส่งผลให้มีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ บริเวณหน้าอกเมื่อมีการหายใจ หายใจเหนื่อย หายใจไม่ไหว มีไข้ และไอร่วมด้วย โดยอาการรุนแรงที่สุดคือ ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด นำไปสู่ภาวะอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว

โรคหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวาย มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มนี้จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ ในคนที่ไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถพบได้ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ

การตรวจวินิจฉัยโรคหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด สามารถตรวจได้โดยการทำเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดหรือไม่ หากแพทย์ต้องการข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น อาจพิจารณาส่งทำ CT Scan ทรวงอก

การรักษาโรคหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด จำเป็นต้องเอาหนองออกทุกกรณี โดยแพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะระบายหนองออกด้วยวิธีใด ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่

การใส่สายระบายทรวงอก หรือการใส่สายเข้าไปยังช่องเยื่อหุ้มปอดเพื่อระบายหนองออก แต่วิธีนี้อาจระบายหนองออกไม่หมดกรณีที่ผู้ป่วยมีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดปริมาณมาก

การผ่าตัดระบายหนอง ในอดีตการผ่าตัดปอดเพื่อระบายหนองออกจะใช้วิธีการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งทำให้มีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดมากหลังผ่าตัดและมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการรักษา จึงสามารถผ่าตัดระบายหนองได้ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก

การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Video-Assisted Thoracoscopic Surgery, VATS) แพทย์จะกรีดแผลขนาดเล็ก จากนั้นจะสอดกล้องและเครื่องมือทางการแพทย์เข้าไปยังเยื่อหุ้มปอด โดยวิธีนี้สามารถระบายหนองได้จนหมดและให้ผลเทียบเท่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยผู้ป่วยมีจะแผลผ่าตัดยาวประมาณ 3 – 4 เซนติเมตรเพียง 1 แผลที่บริเวณข้างลำตัว จึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว นอนโรงพยาบาลในระยะเวลาที่สั้นเจ็บปวดน้อยลง มีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า แต่หลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายระบายทิ้งไว้ประมาณ 1 – 2 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอดแล้ว

“หากเริ่มมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจไม่ใช่อาการของไข้หวัดธรรมดา หากตรวจแล้วพบว่าเป็นหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด อย่าเพิ่งกังวล เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ ไม่น่ากลัว แต่ถ้าไม่รักษาจะน่ากลัว เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว หรืออวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวได้” นายแพทย์ชวกรกล่าว

Written By
More from pp
สธ. เผยการดูแลผลกระทบสุขภาพจากไฟไหม้โกดังสารเคมี “อยุธยา” ไม่พบเจ็บป่วยรุนแรง ตรวจคุณภาพอากาศ-แหล่งน้ำ พบอยู่ในระดับปลอดภัย
2 มีนาคม 2567 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยเหตุไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่พบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ พบมีอาการหายใจไม่สะดวก กลิ่นเหม็นรำคาญ ในระยะ...
Read More
0 replies on “หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ตัวการทำระบบหายใจล้มเหลว”