นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขบวนการค้ายาเสพติด มักจะคิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ วิธีการที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ต่างจากเดิมโดยการนำสารเสพติดบรรจุลงไปในซองเครื่องดื่มต่างๆ รวมไปถึงการตั้งชื่อเรียกใหม่ที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่ม
ในขณะนี้พบการลักลอบจำหน่ายสารเสพติดชนิดใหม่ในชื่อ คือ “คลอลาเจน” เป็นสารเสพติดที่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดผสมขึ้นมาเอง
มีส่วนประกอบของยาเสพติดหลายชนิด เช่น เมทแอมเฟตามีน เคตามีน หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทฯลฯ มาผสมกัน แล้วนำมาบรรจุลงในซองและจำหน่ายตามช่องทาง สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่างๆ โดยนำมาชงกับน้ำร้อนหรือผสมกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ
เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในหลายรูปแบบ ทั้งกระตุ้นประสาท หลอนประสาท กล่อมประสาทและกดประสาท แล้วแต่ว่าผู้ค้าผสมสารชนิดใดเป็นหลัก ทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ตื่นตัว คึกคัก กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะการใช้ยาเสพติดหลายชนิดรวมกัน หรือเสพในปริมาณมาก และเมื่อใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์จะเสริมฤทธิ์ ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อาจทำให้ระบบหัวใจล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า ขอย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมทดลองใช้ยาและสารเสพติดแปลกใหม่ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ค้าตั้งใจผสมสารชนิดใดลงไปบ้าง
และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ รวมถึงเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ขอฝากถึงกลุ่มผู้ปกครองควรหมั่นติดตามข่าวสารต่างๆ ช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแส สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เงินในการสั่งของทางออนไลน์มากผิดปกติ หรือพบสิ่งของที่เข้าข่ายต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา
โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี
และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง