3 เมษายน 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวชี้แจงถึงข้อสังเกตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ในเรื่องของราคายางพารา ที่ถือว่าเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และพี่น้องชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้สามารถลืมตาอ้าปากได้ และรัฐบาลมีโครงการที่จะสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องชาวสวนยาง ทั้งการส่งเสริมการทำการเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแซม ไม่ว่าจะเป็นปลูกกาแฟเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังได้ดำเนินโครงการชะลอการขายยาง เป็นโครงการที่จะช่วยชาวสวนยางมีชีวิตที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง พร้อมทั้งดำเนินนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ว่าเราจะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตร โดยนำแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ขึ้นเป็น 3เท่า ในช่วงระยะเวลาการบริหารราชการ 4 ปี
“นโยบายแรกที่ผมได้แถลงให้กับข้าราชการ ที่ประกาศทำสงครามกับสินค้าเถื่อนทุกประเภท สิ่งที่ปรากฏเห็นตามสื่อที่นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทปศุสัตว์ ประมง พืชไร่ พืชสวน และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราได้ปราบปรามยางพาราที่เข้าประเทศ 2 ประเภท 1. เถื่อนประเภท ดำสนิท ได้มีการจับยางเถื่อนในพื้นที่ที่เป็นแนวตะเข็บชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านทุกอาทิตย์ ทั้งจังหวัดระนอง กาญจนบุรี หรือจังหวัดแถบอีสาน และภาคเหนือ โดยชุดพญานาคราชที่มีอยู่ตามตะเข็บชายแดนทุกจังหวัด เฝ้าคอยระวังร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ทั้งกองทัพบก ทัพเรือ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราปราบปรามอย่างจริงจัง“ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ว่า กระทรวงได้เช็คแหล่งกำเนิดยางที่ผิดกฎหมาย ซึ่งล้วนแล้วมาจากแหล่งเพาะปลูกที่กลุ่มทุนในประเทศไทยที่ไปลักลอบปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าในประเทศ ไปปลูกประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็แปลงเป็นยางพาราส่งข้ามเขตแดน (Transit) ส่งเข้ามาในประเทศ โดยอ้างข้อตกลงของ WTO แต่โชคดีที่เรามีฝ่ายตรวจสอบคือ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยกรรมาธิการต่างๆกับฝ่ายบริหารคือ กระทรวงเกษตรกรฯ รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กำชับให้ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกันปราบปรามอย่างจริงจัง และก็ต้องขอบคุณ สส.รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์
ทั้งนี้ผลจากการปราบปราบยางพาราอย่างจริงจัง ปริมาณการลักลอบลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น เพราะซัพพลายสมดุลย์ อย่างไรก็ตามประเทศไทย เป็นแหล่งสวนยาง มีภาคอุตสาหกรรมการยาง จึงยืนยันได้ว่าไทยยึดตลาดโลก และเป็นผู้นำทางด้านยางพาราโลก
นอกจากนั้น การยางแห่งประเทศไทยยังดำเนินการสำรวจ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนและให้มีการระบุพิกัด และรูปแปลง ซึ่งปัจจุบันดำเนินไปแล้ว 90% คือ 2,202,940 ไร่ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ราคายางพารายกระดับขึ้น รวมถึงการจัดระบบซื้อยางพาราผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) จะเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบผลผลิต จากแหล่งเพาะปลูกใด
ร.อ.ธรรมนัส ยังกล่าวต่อว่า นโยบายการรักษาเสถียรภาพราคายางในประเทศไทย ข้อมูลที่ปรากฏสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ยางพาราของเราเป็นตัวกำหนดทิศทางของโลก ราคายาง ณ วันที่ 19 มีนาคม 2567 อยู่ที่ 98 บาทต่อกิโลกรัม เป็นยางแผ่นรมควัน คู่แข่งของเราอย่างประเทศญี่ปุ่น ราคายางประเภทเดียวกัน ราคาอยู่ที่ 88 บาท และประเทศมหาอำนาจใกล้ๆ บ้านเราอย่างประเทศจีน ราคาอยู่ที่ 77 บาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ยางพาราของประเทศไทยฃชี้นำตลาดโลก นโยบายที่ตนทำมามันมาถูกทางแล้ว