สันต์ สะตอแมน
“วันนี้เราเดินทางมาเพื่อ..
1.ให้กำลังใจที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขอให้ยึดประโยชน์และสุขภาพประชาชน
2.คัดค้านแนวคิดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่พยายามขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝาก รมว.สธ.เรียนนายกฯ ว่ามีคนจำนวนหนึ่งคัดค้านและไม่เห็นด้วย
อยากให้ฟังให้รอบด้าน ไม่อยากให้ซ้ำรอยกัญชา และ 3.อยากให้รัฐบาลไปศึกษาสิ่งที่ทำมาแล้วเรื่องการขยายเวลาเปิดผับตี 4 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
และก่อนที่จะตัดสินใจเลือกกำหนดนโยบายเรื่องเพิ่มเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสิ่งที่รัฐบาลและ สธ.ควรเร่งดำเนินการ
คือ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะตามมาให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะพิจารณาเวลาขายน้ำเมา เช่น
แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มโทษผู้ที่เมาแล้วขับ ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพื่อเปิดช่องว่างการรอลงอาญา ทำให้ติดคุกกันจริงๆ
หรือการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความเข้มข้น ไม่ให้อ่อนแอลงตามข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ทั้งหมด..เป็นเนื้อหาสาระที่เครือข่ายภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ
เครือข่ายแท็กซี่สามล้อ ไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ องค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประชาชน รวม 25 เครือข่าย
ได้เดินทางไปยื่นต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันก่อนนู้น โดย คุณธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า..
“ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดขายเหล้าเบียร์มากกว่า 5.8 แสนจุด และที่แอบขายอีกมหาศาล โดยขายได้ 2 ช่วง คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. รวม 10 ชั่วโมงต่อวัน
แต่ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุที่มีสุราเข้าไปเกี่ยวข้องกว่า 5.3 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยวันละ 145 คน หรือ 6 คนต่อชั่วโมง
ดังนั้น หากขยายเวลาเพิ่ม ผลกระทบก็จะมากขึ้นเท่าตัว ประเทศรับความเสียหาย เสียงบประมาณดูแลรักษามหาศาล ไม่นับรวมค่าเสียโอกาสจากการทำงานและอื่นๆ
ซึ่งประมาณการความสูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบมากถึง 1.6 แสนล้านบาท จึงเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย”
ก็..เป็นความห่วงใยของภาคประชาชนที่มีข้อมูล-ข้อเท็จจริงมายืนยัน ส่วนรัฐบาลจะฟัง-ไม่ฟังนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ถ้าคิดเอาเรื่องผลประโยชน์เงินทองเป็นตัวตั้ง
แน่นอน..รัฐบาลก็ควรจะต้องเดินหน้า ขยายเวลาเพิ่ม จาก 5 จังหวัดนำร่อง เป็น 10-20 จังหวัด เพื่อเร่งกอบโกยรายได้จากนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องแยแส!
ผมนั้นก็เพิ่งได้ฟังกับหู จากเพื่อนที่ทำธุรกิจอยู่ในจ.ภูเก็ต ว่าที่โน่น กำลังคึกคักกับนักท่องเที่ยวหลายชาติ-หลายภาษา
และจากนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ทำให้เศรษฐกิจปากท้องของคนในพื้นที่มีชีวิตชีวา จนขนาดนายแบงค์ยังมองว่าเป็นเรื่องดี เงินสะพัดไปทั้งเกาะ!
ซึ่งผมได้ถาม แล้วชาวบ้าน-คนในพื้นที่จริงๆ ล่ะเขาคิดเห็นประการใด เพื่อนตอบ.. “ชาวบ้านเขาชอบ กลางคืนก็ปล่อยให้นักท่องเที่ยวได้ใช้จ่ายเงินกัน
ส่วนกลางวันชาวบ้านร้านตลาดก็ออกมาทำมาหากินกันไปตามอาชีพใครอาชีพมัน ยังมองไม่เห็นปัญหาอะไรกับการปิดสถานบันเทิงตี4”
ถ้าเป็นแบบนี้รัฐบาลต้องใช้โมเดลภูเก็ตขยายสู่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไปเป็นแน่ ซึ่งผมไม่ได้จะขัดคอ-ขัดขวาง แต่หากทบทวน-ศึกษาเหตุผล-สาระของ 25 เครือข่ายเอาไว้หน่อยก็ดี
คือ..เข้าใจ ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนัก..
ได้กับเสีย อะไรมันมาก-น้อยกว่ากัน!