จากคลื่นลูกใหม่แห่งวงการอนุรักษ์ สู่ความสำเร็จในทศวรรษที่ 3 ของค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล

เสียงคลื่นที่กระทบกับเรือเป็นระลอก สะท้อนถึงระยะทางที่ไกลออกจากชายฝั่งไกลขึ้นทุกเมื่อ โดยเรือที่ลำเลียงเยาวชนนับสิบท่องทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ตครั้งนี้ ได้แล่นสู่มหาสมุทรพร้อมกับความตื่นเต้นของเด็กๆ และความหวังของวงการอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งแม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรือดังกล่าวจะแล่นออกไปพร้อมภารกิจมากมาย แต่ภารกิจในครั้งนี้แตกต่างออกไป และเรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่สร้าง “คลื่นลูกใหม่” แห่งวงการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างแท้จริง

เด็กๆ กว่า 20 ชีวิตที่ได้ออกภาคสนามศึกษาระบบนิเวศที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่จากโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ที่ปีนี้ก้าวเข้าสู่ที่ปี 30 โดยจากความเชื่อมั่นว่า “การอนุรักษ์ต้องเริ่มต้นจากการศึกษา” ทำให้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ร่วมมือพัฒนาค่ายดังกล่าวขึ้น

โดยได้เปิดรับเยาวชน รุ่นใหม่ที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลเข้าร่วมค่าย พร้อมพัฒนาความรู้ความสามารถเกี่ยวกับนิเวศทางทะเล และส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ ซึ่งตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ค่ายดังกล่าวได้ผลิตบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาทางทะเลให้กับประเทศไทยมาแล้วมากมายในหลากหลายสาขาอาชีพ

ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศิษย์เก่าของโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล กล่าวถึงการเดินทางสู่ปีที่ 30 ว่า “ความพิเศษของค่ายปีนี้คือเราได้นำกิจกรรมภาคสนามกลับมาอีกครั้ง โดยผสานกับการเรียนการสอนทางออนไลน์จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์เต็มรูปแบบเมื่อสองปีที่ผ่านมา

ซึ่งการที่ได้เห็นเยาวชนทุกคนในวันนี้ สะท้อนถึงความสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนที่ได้เข้าร่วมค่ายจากรุ่นสู่รุ่นและขยายเครือข่ายกว้างขวางขึ้น จนทำให้ในปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วม จาก 17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศทั้งหมดถึง 58 คน และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมภาคสนามที่ภูเก็ตนี้ 20 คน ซึ่งผมเองในฐานะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และศิษย์เก่าของค่ายในรุ่นที่ 6 รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความตั้งใจและความตื่นเต้นในแววตาของเด็กๆ ที่จะเติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ท้องทะเลของเรา”

สำหรับช่วงการบรรยายรูปแบบออนไลน์ในวันที่ 4 – 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางค่ายได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก ทั่วประเทศมาให้ความรู้ในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับสำหรับสาขาอาชีพวิทยาศาสตร์ทางทะเล ทั้งการจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และ เทคนิคการปรับแต่งและประยุกต์ภาพถ่ายในงานทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงจัด Special Talk ในหัวข้อ การบริหารจัดการทรัพยากรประมงไทย ตามมาตรฐานสากล โดยสำหรับกิจกรรมภาคปฏิบัติในช่วงวันที่ 3 – 10 ธันวาคม ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเยาวชน ทั้งการลงเรือสำรวจเก็บตัวอย่าง จัดจำแนกสิ่งมีชีวิต ตรวจวัดคุณภาพน้ำ รวมถึงศึกษาระบบนิเวศทั้งป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย และแนวปะการัง ซึ่งน้องๆ ยังได้มีโอกาสทำหัวข้อสัมมนา ซึ่งถือเป็นด่านแรกสู่การเป็นนักวิจัยที่ดีอีกด้วย

กระแสน้ำที่พัดเข้าหาปะการังหลากสีสันใต้ผืนน้ำของเกาะเฮ จังหวัดภูเก็ต ได้พัดพาความตื่นตาตื่นใจให้เยาวชนกว่า 20 ชีวิตได้เก็บความทรงจำสุดประทับใจในค่ายไปพร้อมกัน โดยการดำน้ำสำรวจแนวปะการังถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์ของค่ายในครั้งนี้ นางสาวปิยพร รัตนวัลย์ หรือน้องการ์ตูน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าด้วยนำเสียงตื่นเต้นว่า “ค่ายนี้ทำให้หนูได้มีโอกาสลองดำน้ำเป็นครั้งแรก ซึ่งความจริงก่อนจะมาค่ายนี้ หนูยังลังเลว่าชอบสายนี้จริงไหม แต่วินาทีที่ได้ดำน้ำลงไปเห็นปะการัง ทำให้หนูเห็นตัวเองชัดเจนมากว่าจะไปต่อทางสายวิทยาศาสตร์ทางทะเลแน่ๆ ค่ะ เพราะถึงแม้อาจจะลำบากเล็กน้อยตอนลงภาคสนาม แต่เราอยู่ตรงนี้ได้แบบไม่เหนื่อยเลยเพราะรักจริงๆ นอกจากนี้ ตอนที่ค่ายพาไปดูศูนย์ช่วยเหลือเต่าทะเล ด้วยความที่ชอบเต่าทะเลอยู่แล้ว และตอนทำสัมมนาหนูก็ทำหัวข้อ “เต่าเล็กควรออกจากฝั่ง” ก็ทำให้ประทับใจขึ้นไปอีก หลังจากกลับค่ายมาคือเห็นเส้นทางตัวเองชัดว่าอยากจะเรียนต่อสายนี้เพื่อเป็นอีกมือที่จะช่วยให้ท้องทะเลสดใสขึ้นค่ะ”

ด้าน นายนพณัฐ พลอยวงศ์ หรือน้องท็อป ที่ปัจจุบันเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า “ผมไม่ได้เรียนมาทางนี้ แต่จุดเริ่มต้นคือมีโอกาสได้ไปดำน้ำ รวมถึงเคยได้ไปช่วยเก็บขยะและกู้ซากอวนใต้ทะเลเพื่อฟื้นคืนชีวิตให้ปะการัง ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเสริมความรู้เพิ่มเติมเพื่อช่วยอนุรักษ์ท้องทะเลด้วยวิธีที่ถูกต้องมากขึ้น จนมาเจอค่ายนี้ที่ตอบโจทย์เป้าหมายของผม นอกจากช่วงที่เรียนออนไลน์ที่ทำให้ได้เห็นมุมมองของสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไปจากเดิมแล้ว เรายังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเรือสํารวจ สมุทรศาสตร์ “จักรทอง ทองใหญ่” ที่ภูเก็ต ซึ่งปกติจะใช้สำรวจเก็บตัวอย่างในทะเล โดยเราได้เห็นระบบนำทาง ห้องแล็บภายในเรือ และอุปกรณ์ต่างๆ ของจริงที่เรียกได้ว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากๆ ครับ ในฐานะตัวแทนที่ไม่ได้เรียนสายนี้โดยตรง ผมก็อยากชวนเพื่อนๆ ที่มีใจรักทะเล หรือคนที่อยากเห็นอนาคตของทะเลที่ดีกว่าเดิมมาลองเข้าค่ายนี้กัน”

“ทะเลของเรากำลังเผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องการนักวิทย์ทางทะเลรุ่นใหม่ที่จะมาช่วย สานต่อภารกิจด้านการอนุรักษ์” นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กล่าวต่อว่า “ทะเลถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ แหล่งอาชีพ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ปัจจุบันภัยคุกคามทำให้ทะเลเสื่อมโทรมขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ที่กระทบเป็นห่วงโซ่ ดังนั้น นอกจากการดำเนินการด้านอนุรักษ์แล้ว อีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือเราต้อง บ่มเพาะทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่อสานต่อภารกิจนี้ต่อไป โดยในวันนี้ผมภูมิใจมากที่ได้เห็นโครงการฯ ดำเนินมาถึงปีที่ 30 และได้เห็นเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการปกป้องท้องทะเลขยายกว้างขึ้นในทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าค่ายนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทยต่อไป”

ในฐานะบริษัทพลังงานที่เชื่อมั่นในพลังคน เชฟรอนมุ่งสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดย นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ตลอดกว่า 60 ปีที่เชฟรอนดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราได้สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยแหล่งผลิตปิโตรเลียมของเราอยู่ในอ่าวไทยและเรายังมีสถานที่ปฏิบัติงานบนฝั่งทั้งในจังหวัดชายฝั่งทะเลอย่างสงขลา นครศรีธรรมราช และชลบุรี ดังนั้นท้องทะเลไทยจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเชฟรอน ตลอด 30 ปีที่เชฟรอนสนับสนุนค่ายโครงการนิเวศวิทยาร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราได้เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการสร้าง “พลังคน” ที่มีใจรักและความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาแล้วกว่า 840 คน โดยเราหวังว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ จะขยายผลสู่การสร้างความยั่งยืนในระยะยาว และสร้างองค์ความรู้ใหม่ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”

เรือที่กำลังแล่นกลับเข้าฝั่งจากภารกิจแห่งความหวัง ได้โอบอุ้มหัวใจที่มุ่งมั่นของเหล่าเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่จะส่งต่อแนวคิดและการลงมือทำด้านการอนุรักษ์สู่คนรุ่นหลังต่อไป โดยการเดินทางของค่ายนิเวศวิทยาที่ได้เข้าสู่ปีที่ 30 นี้ จะยังคงเดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจเพื่อสร้าง “คลื่นลูกใหม่” ที่จะปกป้องท้องทะเลไทยสู่รุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน

Written By
More from pp
อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจ เยี่ยมความพร้อมศูนย์การค้าเซ็นทรัล เตรียมพร้อมคุมเข้มตามแผนแม่บท “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ”
อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมศูนย์การค้าเซ็นทรัล เตรียมพร้อมคุมเข้มตามแผนแม่บท “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ”ผนึกกำลังร้านค้าทั่วศูนย์ฯ ย้ำชัดพร้อมเดินหน้า เป็น Center of New Normal Life และผลักดันเศรษฐกิจไทยช่วยไทยอย่างแข็งแกร่งไปด้วยกัน
Read More
0 replies on “จากคลื่นลูกใหม่แห่งวงการอนุรักษ์ สู่ความสำเร็จในทศวรรษที่ 3 ของค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล”