ม.มหิดล พิสูจน์ ‘จิตวิญญาณเหนือเทคโนโลยี’ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

เมื่อนักวิจัยสายสังคมศาสตร์มาจับงานทางด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ได้คือนวัตกรรมที่ “ทำด้วยหัวใจ” เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสวริทธิ์ธร จันทร์แสงศรี หรือ “Dr.Sova” อาจารย์ประจำภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ โดยเป็นเจ้าของผลงานนวัตกรรมแอปพลิเคชันที่ช่วยในการ “สื่อสารสองทาง” สำหรับผู้พิการและเพื่อนผู้พิการในโลกไร้เสียง

ด้วยความสามารถทางด้านสังคมศาสตร์ บวกกับความสามารถทางด้านเทคโนโลยี และความสนใจที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสวริทธิ์ธร จันทร์แสงศรี จึงได้พัฒนา “Hear La La” ขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อให้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้พิการทางการได้ยินมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ด้วยเมนูที่ต้องการ อาทิ แนะนำตัว เครื่องดื่ม อาหาร รถโดยสาร โรงพยาบาล ร้านขายยา เพียงบันทึกข้อมูลที่ต้องการแล้วแสดงประกอบการสนทนา จะทำให้คู่สนทนาเข้าใจความต้องการ และให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

แอปพลิเคชัน “Hear La La” ได้รับการออกแบบให้สามารถบันทึกรายละเอียดเพื่อเตือนความจำ และเรียกใช้ข้อมูลในเวลาที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผ่านการทดสอบใช้จริงแล้วโดยนักเรียนในเครือโรงเรียนโสตศึกษาฯ

โดยผู้พัฒนาแอปพลิเคชันใส่ใจในรายละเอียดแม้กระทั่งการสั่งเครื่องดื่มที่ระบุความหวาน 0% 25% 50% 75% หรือ 100% เพื่อการดูแลสุขภาพผู้พิการทางการได้ยินให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นบุคคลทั่วไป

หรือการไปโรงพยาบาลที่แสดงความต้องการ “ล่ามภาษามือ” การซื้อยาโดยระบุอาการและยาที่แพ้ ตลอดจนการโดยสารรถสาธารณะที่บอกได้ถึงจุดเริ่มต้น – ปลายทาง และราคาค่าโดยสาร เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสวริทธิ์ธร จันทร์แสงศรี ได้ให้แนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้พิการว่าสำคัญที่ “การมี และสร้างทัศนคติ” โดยควรทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดในการสื่อสาร ก่อนออกแบบแอปพลิเคชันให้ครอบคลุมความต้องการ และสร้างทัศนคติที่ดีในการสื่อสาร ซึ่งสามารถติดตามได้จากแอปพลิเคชัน “Hear La La” ในเฟสถัดไป

แอปพลิชัน “Hear La La” สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ด้วยความมุ่งมั่นพยายามที่จะ “สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยหัวใจ” ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้างอย่างไม่หยุดยั้ง

ก้าวต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสวริทธิ์ธร จันทร์แสงศรี เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการดูแล “สุขภาพใจ” ในโลกที่สับสนวุ่นวาย โดยจะสร้างขึ้นเป็น “ห้องเบาใจ” เพื่อให้ได้ดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งในโลกออนไลน์ และโลกจริงต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

Written By
More from pp
“พิพัฒน์” ห่วงใยแรงงานไทยจากเหตุแผ่นดินไหว หวั่นเกิดสึนามิในญี่ปุ่น ด้านปลัดแรงงาน “ไพโรจน์” ขานรับ กำชับทูตแรงงาน ติดตามสถานการณ์ พร้อมแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด
2 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูดโดยมีศูนย์กลางในพื้นที่เขตโนโตโจ จังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น
Read More
0 replies on “ม.มหิดล พิสูจน์ ‘จิตวิญญาณเหนือเทคโนโลยี’ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม”