ผักกาดหอม
เห็นพูดกันเยอะ…
เรื่อง “แลนด์บริดจ์”
สร้างหรือไม่สร้างดี
เหรียญมีสองด้าน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูงถึง ๑ ล้านล้านบาท ก็ย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสีย
แต่อย่างไหนจะมากกว่ากัน
ก่อนจะไปถึงจุดนั้นเราควรกลับมามองว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องแข่งขันกับสิงคโปร์จริงหรือเปล่า
ประเทศไทยต้องสู้ชาติอื่นให้ได้ทุกด้านจริงหรือไม่
เราถนัดทำอะไร แล้วทำได้ดีมากแล้วหรือยัง
โดยภูมิศาสตร์แล้วไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการเดินเรือของโลกได้จริงหรือเปล่า
เอาแค่แชร์ตลาดการเดินเรือจากสิงคโปร์ให้ได้สัก ๒๐-๓๐% “แลนด์บริดจ์” มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้จริงหรือไม่
การไม่มีแลนด์บริดจ์ประเทศไทยจะไม่สามารถกระตุ้นจีดีพีให้พุ่งเกิน ๕% ต่อปีอย่างนั้นหรือ
หรือแค่ความอยากของพรรคการเมือง อยากสร้างเมกะโปรเจกต์ ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลกันแน่
ข้อมูลแลนด์บริดจ์หลั่งไหลออกมาจำนวนมาก แต่ถามว่าพอหรือยัง
การลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ของ สส.พรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลการปิดบังข้อมูล
รายงานไม่สมบูรณ์!
นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องฟังไว้เป็นข้อมูล อย่าฟังแบบเชียร์มวย ถูกใจฝั่งไหนก็เชียร์เฉพาะฝั่งนั้น
นี่อาจไม่ใช่จุดเปลี่ยน แต่เป็นจุดที่ทุกฝ่ายต้องกลับมาคิดทบทวนว่า เราจะเป็นเป็ดคือทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่สามารถทำได้ดีสักอย่างหรือไม่
มีคนบอกว่าคนที่ค้านโครงการนี้เพราะเงินสิงคโปร์ปิดปาก ก็ต้องบอกว่าอย่าประเมินความตั้งใจในการคัดค้านโครงการนี้ต่ำเกินไป
การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ หากอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่รอบด้าน ผลคือประเทศจะเจ็บหนัก
แลนด์บริดจ์ ของรัฐบาลเศรษฐาคือสะพานบก เชื่อม ระนอง-ชุมพร ถูกเคลมว่า เป็นเส้นทางเลือกที่ย่นระยะทางขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย กับฝั่งอันดามัน
นายกฯ เศรษฐา โรดโชว์ในต่างประเทศหลายเวที หวังดึงทุนต่างชาติ แม้รัฐบาลจะประโคมว่า สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง ให้ความสนใจ
แต่ดูเหมือนว่า ความสนใจอยู่ในระดับต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดหมายเอาไว้มาก
เพราะภาพที่มองถูกนำไปเปรียบเทียบกับคลองปานามา คลองสุเอซ
คลองปานามายาว ๘๒ กิโลเมตร ตัดผ่าทวีปอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ออกจากกัน
สามารถย่นระยะทางของเรือที่แล่นระหว่างชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ที่จำเป็นต้องอ้อมแหลมฮอร์นในอเมริกาใต้ ทำให้การเดินทางสั้นลงประมาณ ๘ พันไมล์ทะเล หรือ ๑.๕ หมื่นกิโลเมตร
คลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์ ยาว ๑๙๓ กิโลเมตร ตัดแอฟริกาเหนือออกจากแผ่นดินตะวันออกกลาง ช่วยย่นระยะทางระหว่างทวีปยุโรป กับเอเชียได้มากโข
หากเริ่มต้นจากอังกฤษไปอินเดียผ่านคลองสุเอซ มีระยะทางประมาณ ๖.๓ พันไมล์ทะเล แต่หากไปอ้อมแหลมกูดโฮปจะมีระยะทางถึง ๑.๑ หมื่นไมล์ทะเลเลยทีเดียว
และสิ่งที่ต้องเจอที่ แหลมฮอร์น และ แหลมกูดโฮป ซึ่งนักเดินเรือในอดีตต่างคร้ามเกรงคือความปั่นป่วนของทะเล
ฉะนั้นสองคลองนี้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแทบจะทุกด้าน
แล้ว “แลนด์บริดจ์” ร่นระยะทางได้เท่าไหร่
คำตอบคือ ๑,๒๐๐ ไมล์ทะเล
สิ่งที่ประชาชนต้องแยกให้ออกคือ “แลนด์บริดจ์” กับ “คลองไทย” เป็นคนละโครงการกัน
“แลนด์บริดจ์” ต้องสร้างท่าเรือฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เชื่อมด้วยถนน หมายถึงเรือไม่สามารถผ่านได้ แต่ใช้วิธีขนถ่ายสินค้าจากเรือฝั่งหนึ่งไปยังเรือที่จอดอยู่อีกฝั่งหนึ่งโดยทางบกแทน
ส่วนคลองไทยคือการขุดคลอง แบบคลองปานามา และ คลองสุเอซ
คลองไทย หรือ คอคอดกระ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แขวนไปแล้ว เพราะผลการศึกษาพบว่าระหว่างผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม หรือว่าการลงทุนอื่นๆ และผลประโยชน์ที่ได้รับ อาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
โครงการนี้อาจใช้งบประมาณสูงกว่า ๒ ล้านล้านบาท
ต้องขุดคลองเป็นระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร
เริ่มจะเห็นภาพกว้างแล้วนะครับ
เมื่อลงไปในรายละเอียด จะมีบริษัทเดินเรือที่ไหนสนใจใช้บริการแลนด์บริดจ์บ้าง
“ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” โพสต์ข้อความยกตัวอย่างเห็นชัดเจน
“…ลองคิดดูว่าถ้ามีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด ๑๐๐,๐๐๐ ตัน จะใช้เวลานานเพียงใดที่จะสูบน้ำมันจากเรือลงสู่ท่อ หรือถ้ามีเรือบรรทุกสินค้าขนาด ๕๐,๐๐๐ ตัน จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะขนสินค้าจากเรือสู่รถ และจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมากขนาดไหน…”
ร่นระยะทางได้ แต่ร่นเวลาได้หรือเปล่า?
ลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ เพราะมีค่าใช้จ่ายการขนถ่ายเพิ่มขึ้นมา
ช่องแคบมะละกาแออัดก็จริง แต่ปัจจุบันมีเส้นทางอื่นที่ “แลนด์บริดจ์” สู้ได้หรือเปล่า เช่นช่องแคบลอมบ็อก และช่องแคบซุนดา ที่อินโดนีเซียกำลังชูมาแข่งกับช่องแคบมะละกาเช่นกัน
คิดว่าบริษัทเดินเรือจะเลือกเส้นทางไหน
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การขนส่ง เน้นเรื่อง เวลา และ ต้นทุน เป็นหลัก
คลองไทยหากทำได้ และทำสำเร็จ ที่เห็นแน่ๆ คือลดระยะเวลาเดินทางได้ประมาณ ๒-๗ วัน แต่หากความหนาแน่นมากก็ยิ่งเพิ่มเวลาเข้าไปอีก เพราะเรือต้องรอคิว ต้องรอปรับระดับน้ำ
อาจประหยัดเวลาจริงๆ ไม่ถึง ๑ วัน
ปัจจุบันคลองปานามาบางช่วงเวลาต้องรอคิวนานถึง ๘-๙ วัน
“แลนด์บริดจ์” ใช้เงินมหาศาลถึง ๑ ล้านล้านบาท ความคุ้มทุนจึงต้องศึกษาให้รอบด้าน และต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ ไม่ใช่อวยเพื่อจะสร้างให้ได้
ประเด็นสุดท้ายปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ของประเทศไทยคือการคอร์รัปชัน
ต่อให้ต่างชาติร่วมทุน ก็อย่าคิดว่าจะโปร่งใสแบบสิงคโปร์
เรื่องขนส่ง เรื่องท่าเรือ ไทยเราน้อยหน้าเสียที่ไหนล่ะครับ