28 พฤษภาคม 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง “ก้าวไกล กับ ราษฎร” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,035 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤษภาคม พ.ศ.2566 พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 เบื่อหน่ายการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะมีแต่แย่งชิงตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ ละเลยความเดือดร้อนของราษฎร การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาปากท้อง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 14.8 ไม่เบื่อ เพราะ น่าสนใจติดตาม ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคอะไรจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 รู้สึกผิดหวังต่อจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่เคยหาเสียงไว้ เช่น พอได้เป็นแล้วเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่าแรง 450 ไม่ชัดเจน กฎหมาย 112 การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่างๆ และอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ไม่ผิดหวัง เพราะ เพิ่งรวมตัวกัน ต้องให้เวลาก่อน ค่อยเป็นค่อยไป หนักแน่นในก้าวไกล เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความเห็นต่อการถอนตัวของพรรคเพื่อไทยจากความขัดแย้งต่างๆ ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังพยายามจัดตั้งโดยพรรคก้าวไกล พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 44.9 ระบุ แล้วแต่เลย ถอนก็ได้ ไม่ถอนก็ได้ ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุควรอยู่ต่อ และร้อยละ 22.3 ระบุควรถอนตัว ตามลำดับ