11 มกราคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ตามคาดการณ์โดยเฉพาะหลังเทศกาลปีใหม่ 2567
ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567 พบผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลจำนวน 664 ราย เฉลี่ย 95 รายต่อวัน สูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่รายงาน 70 รายต่อวัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12) เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 144 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ตามการคาดการณ์ที่จะมีการระบาดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ซึ่งข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าช่วง 4 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังพบสายพันธุ์ย่อยทั้ง XBB และ EG.5 ขณะที่สายพันธุ์ย่อย JN.1 สายพันธุ์ รุ่นลูกของโอมิครอนกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อ JN.1 มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูกร่วมด้วยได้ ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิมในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมียาและเวชภัณฑ์สำรอง รวมทั้งจำนวนเตียงที่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง
คำแนะนำสำหรับประชาชน เน้นการป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อยๆ หากประชาชนป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ให้ตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608
เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากป้องกันแพร่เชื้อ และสังเกตอาการ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ
หากเริ่มมีอาการป่วยและมีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้สวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัสโดยเร็วเพื่อลดโอกาสป่วยมีอาการรุนแรง