นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรับฟัง Dinner Talk กับนักวิชาการ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมยางพารา โดยมีรองศาสตราจารย์ อาซีซัน แกสมาน, รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี, ดร.กานดา เซ่งลอยเลื่อน, ผู้แทนบริษัท Startup GEEFIN Rubber, ผู้แทนบริษัท SME แปรรูป 42 Natural Rubber กลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ยางสหกรณ์รัตภูมิและผู้ประกอบยางแผ่นคอกปศุสัตว์ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรผู้แปรรูปยางเพื่อการสร้างมูลค่าหลากหลายบริษัทเข้าร่วมการหารือ
โดยนายนภินทร ได้กล่าวขอบคุณที่คณะอาจารย์ นักวิจัย ที่ได้ให้เกียรติมาบอกเล่าถึงความก้าวหน้าในผลงานวิจัยที่เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจที่จับต้อง กินได้และค้าขายได้ จากศักยภาพวัตถุดิบที่เราได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าอย่างไร้ขีดจำกัดจากฐานทรัพยากรของประเทศที่เรามีคือจุดแข็งของประเทศไทย
รมช.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นโอกาสความก้าวหน้า ความตั้งใจที่มุ่งมั่นของคณะอาจารย์และนักวิจัยรวมถึงผู้ประกอบการที่ได้พัฒนา สร้างนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์จากยางพาราใหม่ๆจากผลงานวิจัยที่มีฐานมาจากยางพาราของประเทศ ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจด้านปศุสัตว์ การเพิ่มผลผลิต มีวัสดุชิ้นงานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ไปสร้างเป็นชิ้นงานที่เพิ่มค่าได้อย่างมหาศาล
“ฐานะของกระทรวงพาณิชย์ ก็จะส่งเสริมสนับสนุนให้สินค้าเหล่านี้มีโอกาสได้ออกสู่การบริโภค มีโอกาสให้หน่วยงานในภาครัฐต่างๆ ได้ใช้ระบบของโอกาสแต้มต่อเพื่อให้ สินค้าเหล่านี้ได้ถูกพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างก่อนใครในช่องทางบัญชีนวัตกรรมหรือช่องทางพิเศษของแต้มต่อ เพื่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้มีทุนหมุนเวียนมีกำลังใจสร้างานสร้างผลิตภัณฑ์ ภายใต้การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการก้าวเดินไปให้ได้ และร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อส่งเสริมหารือช่องทางให้ผลิตภัณฑ์ งานวิจัย นวัตกรรมจากยางพารามีโอกาสช่องทางได้เข้าสู่การบริโภค เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีกำลังใจ มีการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่งต่อไป มีช่องทางเรื่องเงินทุน มีช่องทางทางการตลาด” นายนภินทรกล่าว
ด้าน รศ.ดร. เอกวิภู ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสนใจในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพารา ซึ่งศักยภาพของประเทศไทยเรามีสูงมากเพราะเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก เรามีนักวิจัยด้านยางเป็นที่ยอมรับสูงในแวดวงวิชาการด้านโพลิเมอร์ยางของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เราผลิตบัณฑิตด้านนี้ปีหนึ่ง 70-80 คน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการให้เขาได้สร้างกำลังทางเศรษฐกิจของประเทศ