เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 17.00 น. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” เทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม 2566 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ ที่ สวนหลวงพระราม 8 เชิงสะพานพระราม 8 ติดริมน้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางพลัด
มี น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.อว. เป็นประธาน พร้อมมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ และผู้บริหาร อว. เข้าร่วม โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนเข้ามาร่วมงานจำนวนมาก มีวงดนตรีสากล KU BAND จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์นำบทเพลงพระราชนิพนธ์อันแสนไพเราะ มาร่วมขับร้องและบรรเลงเพลง อาทิ ใกล้รุ่ง ยามเย็น เสี่ยงรัก พร้อมกับบทเพลงร่วมสมัย อาทิ ในหลวงของแผ่นดิน แก้วเกษตร หลงคอย เป็นต้น
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.กล่าวรายงานว่า อว. จัดงาน “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” เพื่อแสดงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
การแสดงดนตรี H.M.song อว.บรรเลงเพลงของพ่อ การเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่ การแสดงโขน การแสดงบินโดรนแปรอักษร การแสดงการวาดภาพ และศิลปกรรมช่างไทย และการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 ด้าน และพระอัจฉริยภาพด้าน การดนตรี ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และด้านการช่างไทย
โดยในปีนี้ อว. มีการจัดงานมากกว่า 62 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม เช่น โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และส่วนราชการอื่นๆ ในพื้นที่มากกว่า 75 องค์กรเข้าร่วม
ขณะที่ น.ส.ศุภมาส กล่าวเปิดงานว่า วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสําคัญของประเทศใน 3 โอกาส ได้แก่ วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ เพื่อรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงอุทิศ พระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บําเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด
รัฐบาลจึงได้น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการมาเป็นเข็มทิศนําทางในการ บริหารประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว และก้าวกระโดด อันมีความความท้าทายให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และได้กลายเป็น ปณิธานที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการในการกําหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องกําหนดทิศทางในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ โดยมอบหมายนโยบายการดําเนินงานผ่านข้าราชการได้ทําสิ่งที่ดีให้กับผืนแผ่นดินไทย เพื่อเป็นแผ่นดินทอง เป็นสุวรรณภูมิที่ประชาชนมีความอยู่ดี กินดี มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“นอกจากนโยบายต่างๆ ในเชิงการพัฒนาประเทศแล้ว การศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ก็ถือเป็น “Soft power” ที่สําคัญต่อการสร้างคน สร้างประเทศ และเป็นแรงผลักดันสําคัญของประเทศไทยสู่เวทีโลก วันนี้จึงเป็นการนําพลังด้านดนตรีที่ซึ่งเป็น Soft power ที่รัฐบาลให้ความสําคัญ มีศักยภาพอันโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ นํามาถ่ายทอดความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ทรงเป็นสังคีตกวี และนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี
ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรี ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” รมว.อว.กล่าวและว่า
“การจัดแสดง “ดนตรีในสวน : H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” อว.จะจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเทิดพระเกียรติต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกคน”
จากนั้น ได้มีการใช้โดรนกว่า 100 ลำแปรอักษรเป็นคำว่า “ร.9” เรียกเสียงฮือฮาจากผู้มาร่วมงานอย่างมาก ต่อมา น.ส.ศุภมาส ได้ร่วมรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์พร้อมกับประชาชนจนกระทั่งเสร็จสิ้นงาน