มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันส่ง “กวางผา” (ม้าเทวดา) สัตว์ป่าสงวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 4 ตัว โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
ร่วมด้วยนายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ ดวงจินดา นายอำเภออมก๋อย นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สถานีควบคุมไฟป่า หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อมก๋อย เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น ชุมชนบ้านห้วยไม้หก โรงเรียนบ้านห้วยไม้หก
หน่วยงานภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และกลุ่มธุรกิจในเครือฯ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีที เฟรช จำกัด
ร่วมกันปล่อยกวางผาเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรกวางผาและอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ พร้อมทั้งปลูกฝังเยาวชน และประชาชนบนพื้นที่สูงให้อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ณ จุดปล่อยกวางผาบ้านห้วยไม้หก ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ในการบูรณาการทุกภาคส่วนในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ระบบนิเวศและสัตว์ป่าที่หลากหลาย กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน “กวางผา” เป็นสัตว์ป่าสงวนที่มีจำนวนน้อย มีถิ่นอาศัยจำกัด ทำให้มีอัตราการผสมพันธุ์กันเองในระดับที่ใกล้ชิดและอาจมีความอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนและเพิ่มประชากรกวางผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้เยาวชนรุ่นหลังต่อไป
นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนงาน 4 ด้าน โครงการ “อมก๋อยโมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่คู่ป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในแผนงานด้านปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญและคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่คู่พื้นป่าภาคเหนือและประเทศไทย
ในขณะเดียวกันด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการทำกินของประชาชนในพื้นที่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพียงพอกับการใช้ชีวิต ประกอบกับผืนป่าในตำบลม่อนจอง ตำบลแม่ตื่น มีกวางผาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่มีความสำคัญและมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงนำมาสู่แผนงานและโครงการการอนุรักษ์กวางผาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้ร่วมปล่อยกวางผา จำนวน 4 ตัว ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของประชาคมอมก๋อยที่ร่วมกันอนุรักษ์กวางผาร่วมกัน อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ มีความมุ่งหวังและมีความตั้งใจในการอนุรักษ์กวางผาและเพาะเลี้ยงกวางผา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้ประชากรกวางผามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่นายครินทร์ หิรัญไกลราส หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในนามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ร่วมกับ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินการจัดกิจกรรม “ส่งม้าเทวดา (กวางผา) กลับคืนสู่ธรรมชาติ” ภายใต้โครงการ “อมก๋อยโมเดล” แผนงานอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา)
เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประชากรกวางผาที่มีประสิทธิภาพและสร้างการตระหนักรู้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากผืนป่าอำเภออมก๋อย อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับป่าและสัตว์ป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในอำเภออมก๋อยเป็นอย่างดี
ทางด้านนายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ในนามผู้แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ มีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ในส่วนของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
จัดตั้งเพื่อทำการวิจัย เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ซึ่งรวมถึงม้าเทวดา (กวางผา) เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าแต่ละชนิดสูญพันธุ์ เมื่อสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในจำนวนมากขึ้น จึงปล่อยกลับคืนสู่ป่าเพื่อขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติต่อไป ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจึงขอเป็นกำลังหลักในการสนับสนุน การเพาะเลี้ยง และขยายสายพันธุ์สัตว์ป่า ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และผลในประสิทธิภาพอย่างสูงสุดอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ในส่วนของนายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า กวางผาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทยที่หายาก และมีประชากรเหลืออยู่ทางธรรมชาติน้อยมาก โดยเหลือเพียง 293 ตัว ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากพื้นที่อยู่อาศัยของกวางผาอยู่ในรูปแบบเกาะ
โดยพื้นป่าที่อยู่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ราบ จึงทำให้กวางผาไม่มีโอกาสในการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ป่าอื่น ๆ ทำให้ประชากรกวางผาไม่มั่นคง ในขณะเดียวกันส่งผลกระทบต่อการผสมพันธุ์เกิดสภาวะเลือดชิด (Inbreeding) จึงมีการตรวจสอบ DNA กวางผาที่อยู่ในธรรมชาติและศูนย์เพาะเลี้ยง
เพื่อให้ทราบว่ากวางผาแต่ละตัวมีสายพันธุ์และ DNA เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในจุดที่เหมาะสม และป้องกันการซ้ำซ้อนของสายพันธุ์กวางผาในผืนป่า โดยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยเป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่ในการรวบรวมสายพันธุ์กวางผาในจุดต่าง ๆ นำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติและเติมสายพันธุ์ประชากรกวางผาที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่
สำหรับพื้นที่อมก๋อยเป็นพื้นที่หลักที่มีประชากรกวางผาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากเป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อกันถึง 3 ป่า ได้แก่ ป่าแม่ปิง ป่าอมก๋อย และป่าแม่ตื่น ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ให้ความใส่ใจกับกวางผาที่อยู่โดยรอบพื้นที่ กิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยเติมสายพันธุ์ของกวางผาที่มีคุณภาพในพื้นที่ป่าธรรมชาติอมก๋อยให้มีหลากหลายและมีความแข็งแรงมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากวางผาที่ปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาตินั้นจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทมีโครงการที่เข้ามาดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ กวางผาที่อยู่ในธรรมชาติโดยเฉพาะพื้นที่ป่าอมก๋อยมีประชากรกวางผาที่มีคุณภาพเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างสมดุลแสดงให้เห็นถึง ความตั้งใจและความต้องการของชุมชนที่จะร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
ในขณะเดียวกันธรรมชาติที่ช่วยกันฟื้นฟู ดูแล ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่ราบได้เช่นกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สรุปได้ว่า ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
ในปัจจุบันมี “กวางผา” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยที่ได้รับการสนับสนุนการอนุบาลเลี้ยงดูจากมูลนิธิฯ ภายใต้แผนงานการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) จำนวนทั้งสิ้น 83 ตัว พร้อมทั้งสนับสนุนการตรวจ DNA กวางผา เพื่อลดปัญหาสภาพเลือดชิดที่ก่อให้เกิดภาวะถดถอยของสุขภาพกวางผา ตลอดจนการเพิ่มประชากรกวางผาที่มีประสิทธิภาพ
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้ปล่อยกวางผา จำนวน 4 ตัว คืนสู่ธรรมชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนอาหารข้นสำหรับอนุบาลสัตว์ป่า เพื่อเสริมสร้างคุณค่าทางโภชนาการและพัฒนาการของกวางผา ตลอดจนสนับสนุนกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ (Camera Trap/NCAPS) เพื่อใช้ติดตามการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าและการอยู่รอดในธรรมชาติของกวางผา รวมถึงเป็นอุปกรณ์ที่สามารถป้องปรามการกระทำผิดตามกฎหมายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยต่อไป