ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
แด่.. “พี่เทพ” ครูที่แสนดี (1)
การจากไปของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ..
ไม่เฉพาะแต่จะเป็นความสูญเสียของคนในครอบครัว หากแต่ยังเป็นการสูญเสีย “ปูชนียบุคคล” ที่ยิ่งใหญ่ของวงการเพลงไทย และได้สร้างความเสียใจให้กับคนในวงการบันเทิงอย่างมากมาย
โดยเฉพาะ คุณธานินทร์ อินทรเทพ หรือที่ผมเรียกติดปากว่า “พี่เล็ก” นั้น ได้พูดกับผมทางโทรศัพท์..
“เรากลั้นน้ำตาไม่อยู่ว่ะ ขอให้ได้ระบายความรู้สึกในคอลัมน์ที่สันต์เขียนหน่อยนะ”
“ยินดีครับพี่” ผมตอบโดยไม่ลังเล แล้วรุ่งอีกวันผมก็ได้รับบทความจากพี่เล็กที่ได้เขียนถึงคุณสุเทพ..ตามนี้ครับ
เช้ามืด 27 ก.พ. เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น..ใครวะ โทรมาแต่เช้า..
“พี่เล็ก” เสียงจากปลายสายดูร้อนรน.. “พี่เทพ เสียแล้วตอนตี4”
เฮ้ย! เราใจหายวูบ ทั้งๆ ที่ได้พยายามทำใจอยู่บ้าง เพราะปีที่แล้วพี่เทพเข้าๆออกๆ รพ. อยู่ประจำ แต่ก็ไม่นึกเลยว่าจะรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน จากนั้นภาพความหลังเก่าๆ ก็ผุดขึ้นมาเต็มในหัว
ย้อนอดีต ปลายปี 2504 “พี่เทพ” ไปงานวันเกิด “อาพยงค์ มุกดา” ครูคนแรกของผมที่ตึก “มุกดา ดุริยางค์” แถวสามแยกไฟฉาย ฝั่งธนฯ
อาพยงค์ พูดกับพี่เทพว่า.. “เทพพี่ฝากลูกศิษย์คนนึง ชื่อธานินทร์ ชอบเทพมาก ร้องแต่เพลงเทพ พี่ฝากให้เทพช่วยสนับสนุนต่อ ถ้าอยู่กับพี่คงไปได้ไม่ไกล
เพราะวงดนตรีของพี่ต้องเดินสายออกต่างจังหวัดบ่อย คงไม่เหมาะกับแนวเพลงที่เค้าร้อง”
“พี่เทพ” มองหน้าผม แล้วอาพยงค์ก็เปิดเพลงที่อัดเสียงผมไว้ให้พี่เทพฟัง พี่เทพฟังแล้วบอกโอเค แต่มีข้อแม้เรื่องชื่อธานินทร์ อินทรแจ้ง
ต้องเปลี่ยนเป็น “ธานินทร์ อินทรเทพ” ซึ่งอาพยงค์ก็ไม่มีข้อแม้แต่อย่างใด
ผมหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ามาอยู่กับพี่เทพที่ซอยจันทโรจน์วงค์ ย่านถนนพหลโยธิน และพี่เทพก็พาไปออกงานที่พี่เทพไปร้องตลอด โดยแนะนำผมให้แฟนเพลงรู้จักและว่า นี่คือตัวแทนของพี่เทพในอนาคต
พี่เทพพาผมไปร้อง “นาทูริสต์ไนต์คลับ” ถ.สาทรใต้ ซึ่งพี่เทพร้องอยู่ประจำ จนอาจารย์แมนรัตน์มาได้ยินผมร้องเพลง “รักเอย” ที่ท่านแต่ง จึงบอกพี่เทพว่าให้นำเพลงนี้ไปอัดเสียงโดยให้ผมร้อง
นั่นคือการบันทึกเสียง “เพลงแรก” เมื่อมาอยู่กับพี่เทพ
ช่วงนั้นพี่เทพเป็นสุดยอดนักร้องในประเทศไทย นักแต่งเพลงไม่ว่าเก่าหรือใหม่ก็อยากให้พี่เทพร้องเพลงที่ตัวเองแต่งกันทั้งนั้น
มีนักแต่งเพลงมือใหม่ชื่อ “จงรัก จันทร์คณา” เอาเพลงมาให้พี่เทพร้อง เพลง “เหมือนคนละฟากฟ้า” พี่เทพบอกว่าเพลงพี่ฮิตมากมายแล้ว เพลงนี้น่าจะให้ธานินทร์ร้อง รับรองดังแน่จะเป็นการสานต่อให้ธานินทร์
แล้วก็เป็นจริง..เพลงนี้ได้รับรางวัล “แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน” ปี 2507
ครับ..ยังไม่จบ จะตัดก็เสียดาย และพานจะทำให้คุณธานินทร์เสียความรู้สึกอีกด้วย..
เอาเป็นว่า อ่านต่อพรุ่งนี้อีกวันล่ะกัน!