ผลพิษ COVID-19 นักท่องเที่ยว เลื่อน – ยกเลิก – ขอเงินคืน กับทางออกที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจร่วมกัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในพื้นที่ หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ส่งผลกระทบหลักในด้านการท่องเที่ยว อาทิ บริษัททัวร์ สายการบิน ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรมต่าง ๆ ซึ่งภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยง การเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด มีทั้งนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเลื่อนการเดินทาง ออกไปก่อน ในขณะที่บางส่วนต้องการขอยกเลิกการเดินทางและขอเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนจากบริษัททัวร์ทันที ทำให้ปัญหาหนักตกมาอยู่ที่ฝ่ายผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ต้องเดินหน้าหาทางออก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีมาตรการ การช่วยเหลือทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างชัดเจน อาทิ มาตรการด้านภาษีที่ขยายเวลาการยื่นแบบรายการชำระภาษีออกไปอีก 3 เดือน มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำชาร์เตอร์ไฟลท์สาหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูงสู่พื้นที่เมืองรอง

โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำไปกำหนดกลยุทธ์และแผนงานเร่งด่วน รวมทั้งให้ภาคเอกชนนำแนวทางตามมาตรการไปใช้ในการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจ ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศในทิศทางเดียวกัน

ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์โดยตรง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว เป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการขอเลื่อนการเดินทางและการขอเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนจากบริษัททัวร์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ประสงค์จะออกเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (Covid – 19)

อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจอร์เจีย และอีกหลายประเทศ แต่บริษัททัวร์ปฏิเสธไม่คืนเงินค่าบริการ หรือคืนค่าบริการให้บางส่วน รวมถึงกรณีบริษัททัวร์ไม่ยอมเลื่อน การเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว โดยอ้างว่าบริษัททัวร์มีค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมบริการนำเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะ ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ซึ่งแต่ละสายการบินก็มีเงื่อนไขที่ไม่อาจคืนเงินให้ได้ เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยว เกิดความไม่พอใจ และเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เพื่อระดมความเห็นในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ กรมการกงสุล กรมท่าอากาศยาน กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจ นำเที่ยว (บริษัททัวร์) ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคารกรมการท่องเที่ยว เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) เป็นสภาวะวิกฤตที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อน ภาคเศรษฐกิจของประเทศ มีความเห็นใจอย่างยิ่งกับทุกฝ่าย ทั้งนักท่องเที่ยวที่จ่ายค่าบริการนำเที่ยวไปแล้ว และบริษัททัวร์ที่มีค่าใช้จ่ายไปเพื่อเตรียมการจัดนำเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายล่วงหน้ากับบริษัทสายการบิน ซึ่งการประชุมหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เสนอปัญหาที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน รวมถึงร่วมกันหาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา อย่างรอบคอบ รัดกุม ซึ่งที่ประชุมได้สรุปมาตรการแก้ไขปัญหา 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะปานกลาง

ระยะเร่งด่วน – บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีมาตรการผ่อนผัน กรณีมีการขอเลื่อนกำหนดการบิน สามารถเลื่อนได้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากนักท่องเที่ยวหรือบริษัททัวร์มีความจำเป็นต้องเลื่อนต่อไปอีก จะเลื่อนได้ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และจะต้องพิจารณาว่า เป็นการเลื่อนในเส้นทางเดียวกันหรือไม่ หากเปลี่ยนเส้นทางอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม

ด้าน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งกลุ่มบัตรโดยสารเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบัตรโดยสารแบบซีรีย์ ซึ่งบริษัททัวร์ได้วางมัดจำบัตรโดยสารเครื่องบินตลอดทั้งปี (แบบระยะยาว) ในเส้นทางญี่ปุ่น ทางสายการบินนกแอร์จะยกเลิกค่าธรรมเนียมให้ แต่ยังคงเก็บค่าส่วนต่างที่เกิดขึ้น และกลุ่มบัตรโดยสารแบบกลุ่ม สามารถนำไปใช้ในภายหลังได้ (ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) เพื่อให้บริษัททัวร์ มีระยะเวลาและ ความคล่องตัวในการจัดการธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้มีทางเลือกในการเดินทางและได้รับเงินคืน จากบริษัททัวร์มากที่สุด

ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน จะเสนอปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน แก่สายการบินในช่วงภาวะวิกฤตนี้ รวมถึงจะเสนอให้ปรับลดค่าเช่าของผู้ประกอบการรถเช่าที่ใช้พื้นที่ของสนามบิน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

นอกจากนี้ กรมการท่องเที่ยวจะตั้งศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาร่วมกับกองบัญชาการ ตำรวจท่องเที่ยว และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว กรณีนักท่องเที่ยวเรียกร้องขอเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนจากบริษัททัวร์ ซึ่งจะกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ และสายการบิน ให้สามารถตกลงเจรจาหาข้อยุติในส่วนค่าเสียหายกันได้อย่างถูกต้องและ เป็นธรรมทุกฝ่าย

ระยะยาว – กรมการท่องเที่ยวจะทบทวนกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยให้คุ้มครองการยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากกรณีภาวะวิกฤตต่าง ๆ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความคุ้มครองและลดความเสียหายต่อทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) ดีขึ้น กรมการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมหารือแนวทาง เพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการต่อไป

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ประสงค์ขอยกเลิกการเดินทาง ให้แจ้งขอรับเงินค่าบริการนำเที่ยวคืน จากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีขอยกเลิก การเดินทาง 30 วันขึ้นไป ก่อนวันเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถขอรับเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนได้เต็มจำนวน ที่จ่ายไป กรณีขอยกเลิกการเดินทาง 15 – 29 วัน ก่อนวันเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถขอรับเงินค่าบริการ นำเที่ยวคืนได้ 50% ของค่าบริการนำเที่ยวที่จ่ายไป และกรณีขอยกเลิกการเดินทางน้อยกว่า 15 วัน นักท่องเที่ยวไม่สามารถขอรับเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนได้

ทั้งนี้ การจ่ายค่าบริการนำเที่ยวคืนให้แก่นักท่องเที่ยวดังกล่าว หากบริษัททัวร์มีค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายจริงเพื่อเตรียมการจัดนำเที่ยว ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า ค่ามัดจำของ บัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ให้นำมาหักจากเงินค่าบริการนำเที่ยวที่ต้องจ่ายคืนให้กับนักท่องเที่ยวได้ โดยให้บริษัททัวร์แสดงหลักฐานให้นักท่องเที่ยวทราบ แต่หากค่าใช้จ่ายของบริษัททัวร์สูงกว่า เงินค่าบริการนำเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้ชำระไว้ บริษัททัวร์จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากนักท่องเที่ยวได้

Written By
More from pp
นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 2564 ย้ำดูแล “แรงงาน” เป็นกลจักรขับสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปราศรัยเนื่องในโอกาส “วันแรงงานแห่งชาติ” 2564 พร้อมส่งมอบความรักและความปรารถนาดีมายังพี่น้องแรงงานไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตลอดมา
Read More
0 replies on “ผลพิษ COVID-19 นักท่องเที่ยว เลื่อน – ยกเลิก – ขอเงินคืน กับทางออกที่ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจร่วมกัน”