ศูนย์ปราบปรามหนี้นอกระบบฯ ระดมกวาดล้างเครือข่ายแอปฯ เงินกู้นอกระบบ รีดดอกเบี้ย 2085% ต่อปี ค้น 3 จังหวัด รวบ 9 ผู้ต้องหา

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจากเงินกู้นอกระบบในหลายรูปแบบ เช่น แอปพลิเคชันเงินกู้ ผิดกฎหมาย, แก๊งหมวกกันน็อก, การรับจำนำรถ เป็นต้น
ศปน.ตร. นำโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ ผอ.ศปน.ตร., พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./รอง ผอ.ศปน.ตร. พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปน.ตร. ได้สั่งการให้ ชุดปฏิบัติการสืบสวนส่วนกลาง ศปน.ตร. เร่งรัดปราบปรามกลุ่มเงินกู้นอกระบบที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ โดยให้ดำเนินการสืบสวนหาเครือข่ายผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมายดังนี้

1. ชุดปฏิบัติการสืบสวนส่วนกลาง ศปน.ตร. ชุดที่ 1 จับกุมแก๊งแอปเงินกู้นอกระบบ

พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผบช.ภ.1 , พล.ต.ต.นราเดช ทิพย์รักษ์ รอง ผบช.ภ.1 ได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่ ชป.ส่วนกลาง 1 ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ในความผิดเกี่ยวกับแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย ชื่อแอปฯ “กู้ให้ดีดี” ซึ่งมีรูปแบบการให้กู้ยืมผ่านแอปพลิเคชัน ระยะเวลาในการกู้ยืมเงิน 7 วัน โดยจะหักดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 40 ต่อ 7 วัน ต้องชำระเงินคืนเต็มจำนวน เมื่อคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปีจะพบว่า มีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2085% ต่อปี หากไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทัน ผู้กู้ก็จะถูกโทรศัพท์มาข่มขู่ และโพสต์รูปประจานบนสื่อสังคมออนไลน์

จากการสืบสวนพบว่า เครือข่ายเงินกู้นอกระบบแอปพลิเคชัน “กู้ให้ดีดี” มีเส้นทางการเงินของเครือข่ายนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม มีรายละเอียด ดังนี้

  • กลุ่มบัญชีโอนเงินให้ผู้กู้ (บัญชีธนาคารขาเข้า) และเชื่อได้ว่าเป็นกลุ่มบัญชีธนาคารที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ (บัญชีม้าสำหรับโอนเงินกู้ให้ผู้กู้)
  • กลุ่มเจ้าของบัญชีรับชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย (บัญชีธนาคารขาออกชั้นที่ 1) และเชื่อว่าเป็นกลุ่มบัญชีธนาคารที่ใช้เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ (บัญชีม้าสำหรับรับโอนชำระหนี้เงินกู้)
  • กลุ่มเจ้าของบัญชี สำหรับพัก/ยักย้าย/รวบรวมทรัพย์สิน (บัญชีธนาคารขาออกชั้นที่ 2) โดยการรับโอนจากบัญชีธนาคารกลุ่มเจ้าของบัญชีรับชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย และพบว่าบางส่วนโอนแจกจ่ายต่อไปยังบัญชีธนาคารกลุ่มโอนเงินให้ผู้กู้ จึงเชื่อว่าเป็นกลุ่มบัญชีนายทุนเงินกู้ และผู้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้

จากพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมได้ จึงได้ร้องขออนุมัติหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายลักลอบปล่อยเงินกู้ แอปพลิเคชัน “กู้ให้ดีดี” จำนวน 14 ราย ในข้อหา “ร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน

โดยมีลักษณะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและร่วมกันเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับในทางการค้าปกติโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยมีเงินหมุนเวียนประมาณ 160 ล้านบาท

ต่อมาวันที่ 3 สิงหาคม 2566 พล.ต.ต.อภิชาติ วรรณภักดิ์ ผบก.บก.สส.ภ.1 , พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.๕ , พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ , พล.ต.ต.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผบก.ภจว.เชียงราย , พ.ต.อ.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ , พ.ต.อ.พีรศักดิ์ รอดบน รอง ผบก.สส.ภ.1 / หน.ชป.ส่วนกลาง ศปน.ตร. ชุดที่ 1 และ พ.ต.อ.กฤษดา พันธ์เกษม รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ / หน.ชป.ส่วนกลาง ศปน.ตร.ชุดที่ 5 พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการ ศปน.ตร.ภ.1 และ ภ.5 เข้าทำการ ปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ เชียงราย ผลการดำเนินการสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งหมด 9 ราย หลบหนี 5 ราย ประกอบด้วย

1. น.ส.พรทิพย์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 476/2566 ลง 20 ก.ค.66
2. นายรังสิมันต์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 477/2566 ลง 20 ก.ค.66
3. น.ส.ศุจิกานต์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 478/2566 ลง 20 ก.ค.66

4. นายกิตติพันธ์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 480/2566 ลง 20 ก.ค.66
5. นายนที (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 484/2566 ลง 20 ก.ค.66
6. นายสิษธินันท์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 485/2566 ลง 20 ก.ค.66

7. นายสุทธินัน (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 486/2566 ลง 20 ก.ค.66
8. นางอรศิริ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 488/2566 ลง 20 ก.ค.66
9. น.ส.มณีพรรณ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการที่ 489/2566 ลง 20 ก.ค.66

นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ภ.จว.สมุทรปราการ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปน.ตร. กล่าวว่า ในวันนี้ ศปน.ตร. มีหน้าที่ในการปราบปรามแก๊งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการกระทำผิดในหลายรูปแบบ ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการจับกุม แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบผิดกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน และเป็นการตัดวงจรกลุ่มบัญชีม้าซึ่งเป็นต้นทางของการนำไปก่ออาชญากรรมในหลากหลายรูปแบบ หลังจากจับกุมกลุ่มดังกล่าวแล้ว จะให้สืบสวนขยายผลหาผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากปัจจุบันพบว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้การแปลงเงินตราให้เป็นเงินสกุลดิจิทัลเพื่อให้ยากแก่การติดตาม อย่างไรก็ตาม ศปน.ตร.จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มผู้กระทำผิดให้สิ้นซาก

สุดท้ายนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนภัยถึงประชาชน อย่าหลงเชื่อในการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากต้องการตรวจสอบแหล่งเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อได้ที่ช่องทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Written By
More from pp
โรงพยาบาลศิริราชเชิญชวนบริจาคเลือด หลังพบปริมาณเลือดสำรองไม่เพียงพอ จากสถานการณ์ไวรัสโควิด 19
รศ.พญ.ปาริชาติ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า สถานะเลือดสำรองของธนาคารเลือด โรงพยาบาลศิริราช พบว่า มีปริมาณเลือดสำรองหมู่ เอ บี...
Read More
0 replies on “ศูนย์ปราบปรามหนี้นอกระบบฯ ระดมกวาดล้างเครือข่ายแอปฯ เงินกู้นอกระบบ รีดดอกเบี้ย 2085% ต่อปี ค้น 3 จังหวัด รวบ 9 ผู้ต้องหา”