จักรพรรดิญี่ปุ่น เป็นประธานมอบเครื่องราชฯ ชั้นสูงสำหรับชาวต่างประเทศแด่เจ้าสัวธนินท์ บทบาทส่งเสริมเศรษฐกิจญี่ปุ่นไทยอย่างยาวนาน

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star” สำหรับชาวต่างชาติประจำฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2566 นับเป็นเครื่องราชฯสูงสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้กับเอกชน ทั้งนี้ได้เข้าร่วมพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ณ พระราชวังอิมพีเรียล ประเทศญี่ปุ่น

โดยสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานในพิธี และมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มอบ รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่าเครื่องราชฯ ดังกล่าว มอบให้แก่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นักธุรกิจจากประเทศไทย มาจากผลสำเร็จในฐานะที่นายธนินท์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังระบุว่า นายธนินท์ ในฐานะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมงานกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยมานานหลายปี

อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นภายในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาและเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นให้กว้างขวาง สอดคล้องกับนิกเคอิสื่อดังของญี่ปุ่นที่เคยกล่าวว่าซีพีถือเป็นบริษัทที่เข้าไปปฏิวัติโต๊ะอาหารของญี่ปุ่น

โดยได้ส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นรายแรกตั้งแต่พ.ศ.2516 ทำให้คนญี่ปุ่นได้บริโภคไก่ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนได้ในราคาถูก ด้านประธานอาวุโสเครือซีพีเผยรู้สึกภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ชี้ความสำเร็จมาจากค่านิยม “3 ประโยชน์” จะมุ่งมั่นต่อไปให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star นับเป็นเกียรติประวัติที่สำคัญยิ่งในการชีวิต ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น โดยทำธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ค่านิยม “3 ประโยชน์”

กล่าวคือไม่ว่าจะไปลงทุนในประเทศใด ต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชาติ และจากนั้นจึงเกิดประโยชน์กับบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย สำหรับญี่ปุ่นนั้นซีพีเข้าไปทำการค้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 โดยส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งไปขายญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ซีพีมีความร่วมมือในธุรกิจการค้ากับญี่ปุ่น อาทิ การผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกับอิโตชู ซึ่งเป็นบริษัทการค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ซึ่งอิโตชูมีการทำธุรกิจหลากหลายในประเทศญี่ปุ่นและมีการลงทุนในต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ 1 ใน 5 ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น นอกจากนั้นอิโตชูยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารระดับต้น ๆ ของประเทศญี่ปุ่นด้วย

นอกจากนี้ ซีพี ยังผนึกกำลังกับ อิโตชู ไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มซิติก ประเทศจีน ทั้งนี้นับเป็นการสร้างความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ระหว่างบริษัทชั้นนำของเอเชีย ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และจีน เพื่อเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก โดยในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นการร่วมทุนนี้จะช่วยขยายโอกาสธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร การค้าปลีก และการค้าระหว่างประเทศ และอื่นๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทุกฝ่าย ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการค้า และส่งเสริมการลงทุนในไทย และทั่วภูมิภาค

ทั้งนี้ ถือว่านายธนินท์ เป็นนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักดีของชาวญี่ปุ่น โดยในปี 2556 สถานีโทรทัศน์ NHK แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของนายธนินท์ ผ่านรายการสารคดี อาเจียริชิเด็น (Ajia Ri Shi Den) หรือ “เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแห่งเอเชีย” (Successful Asian Entrepreneurs in Asia) เป็นรายการสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวความสำเร็จของนักธุรกิจชั้นนำของเอเชีย โดยนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวการ์ตูน ออกอากาศทางสถานีภาคพื้นดินช่อง Sogo Terebi ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่นและนำไปเผยแพร่ต่อทางช่องข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นและช่องภาษาอังกฤษ NHK World Channel และเครือข่ายต่าง ๆในภูมิภาคเอเชีย

ต่อมาในปี 2559 นิกเคอิสื่อชั้นนำญี่ปุ่นได้เผยแพร่เรื่องราวชีวิตของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ในรูปแบบ “บันทึกความทรงจำ” ผ่านคอลัมน์ “My Personal History” ซึ่งเป็นคอลัมน์ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น โดยตีพิมพ์ต้นฉบับเป็นภาษาญี่ปุ่น และเผยแพร่ออนไลน์ไปทั่วโลกในภาษาจีน และภาษาอังกฤษ คอลัมน์ “My Personal History” เป็นคอลัมน์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวบันทึกความทรงจำของบุคคลชั้นนำระดับโลก เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิต และแรงบันดาลใจที่ทำให้บุคคลสำคัญประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

ซึ่งล่าสุดได้นำเสนอบันทึกความทรงจำของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก และอยู่ในความสนใจของชาวญี่ปุ่น โดยเป็นคนไทยคนแรกในคอลัมน์ My Personal History ซึ่งก่อนหน้านี้มีบุคคลระดับโลก อาทิ จอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นางมากาเร็ท แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ ลี กวน ยู อดีตประธานาธิบดีสิงคโปร์ รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ ซีอีโอของโซนี่ พานาโซนิค และฮอนด้า เป็นต้น

อนึ่ง การมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศประจำฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2566 ของรัฐบาลญี่ปุ่นในปีนี้ได้มอบแก่ชาวต่างชาติรวม 8 คน โดยมีคนไทยได้รับรวม 4 คน ได้แก่

1.นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star ซึ่งเป็นเครื่องราชฯสูงสุดที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้กับเอกชน

2.รศ.ดร.ประกิจ ตังติสานนท์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon” จากผลสำเร็จอันโดดเด่นและการอุทิศตนเพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้าใจอันดีและการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

3.ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold Rays with Neck Ribbon” จากผลสำเร็จในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และ

4. ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “The Order of the Rising Sun, Gold Rays with Rosette” จากผลสำเร็จในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย อีกทั้งยังมีส่วนในการพัฒนาการวิจัยด้านญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย (ญี่ปุ่น: 旭日章; โรมาจิ: Kyokujitsu-shō; อังกฤษ: Order of the Rising Sun) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ญี่ปุ่นที่สถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1875 โดยจักรพรรดิเมจิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเครื่องอิสริยาภรณ์แรกที่มอบโดยรัฐบาลญี่ปุ่น และสถาปนาขึ้นในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1875 โดยกฤษฎีกาของสภาแห่งรัฐ ดวงตราเป็นแสงอาทิตย์อุทัยฉายรัศมี การออกแบบของเครื่องราชเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่ทรงพลังดั่งอาทิตย์อุทัย

สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแสงแห่งอาทิตย์ (The Order of the Rising Sun) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 8 ลำดับชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 Grand Cordon (เคียวกุจิสึ ไดจูโช) ชั้นที่ 2 Gold and Silver Star (เคียวกุจิสึ จูโกโช) ชั้นที่ 3 Gold Rays with Neck Ribbon (เคียวกุจิสึ ชูจุโช) ชั้นที่ 4 Gold Rays with Rosette (เคียวกุจิสึ โชจูโช) ชั้นที่ 5 Gold and Silver Rays (เคียวกุจิสึ โซโกโช) ชั้นที่ 6 Silver Rays (เคียวกุจิสึ ทันโกโช) ชั้นที่ 7 Blue Paulownia Leaves Medal (เซโชะกุ โทโยโช) และชั้นที่ 8 White Paulownia Leaves Medal (ฮากุโชะกุ โทโยโช)

0 replies on “จักรพรรดิญี่ปุ่น เป็นประธานมอบเครื่องราชฯ ชั้นสูงสำหรับชาวต่างประเทศแด่เจ้าสัวธนินท์ บทบาทส่งเสริมเศรษฐกิจญี่ปุ่นไทยอย่างยาวนาน”