3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 19.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยมี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประธานกรรมการอำนวยการ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ เฝ้า ฯ รับเสด็จ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงรำถวายพระพร และวิดีทัศน์เบื้องหลังการจัดการแสดงโขนรอบปฐมทัศน์ แล้วทอดพระเนตรการแสดงโขน ฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ซึ่งจัดแสดงขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา 28 กรกฎาคม 2566 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566
โดยยึดแนวบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่ หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์กับพระลักษมณ์ แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำกลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำนอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม
เมื่อจบการแสดงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต กรรมการดำเนินงานจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กราบบังคมทูลเบิกผู้แทนคณะทำงาน และนักแสดงมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เข้ารับพระราชทานช่อดอกไม้ จำนวน 5 ราย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยในการแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยจะเลือนหายไป จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้รวบรวมครูผู้เชี่ยวชาญและศิลปินหลายท่าน ศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาของการจัดแสดงโขน
โดยให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯร่วมฟื้นฟูโดยจัดสร้างเครื่องแต่งกาย ศิราภรณ์ หัวโขนและเครื่องประดับทุกชนิดของโขนขึ้นมาใหม่อย่างสวยงามปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขน และส่งเสริมให้ครูผู้เชี่ยวชาญโขน ฝึกฝนเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อสืบทอดการแสดงโขนต่อไป การจัดแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แต่ละครั้งต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมหลายด้าน
นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรชาวไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อนาฏศิลป์โขนทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติไว้ให้คงอยู่สืบไป