“แพทองธาร” ร่วมหารือปรับแผนยกระดับ 30 บาทพลัส

24 ตุลาคม 2566 จากนโยบายพรรค สู่การดำเนินงานของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ

ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาตินัดแรก พร้อมประกาศยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้นจาก 4 จังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดสในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงนำร่องนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะเริ่มต้นที่เขตดอนเมืองภายในเดือนธันวาคม 2566

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ ให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด โดยจะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้นางสาวแพทองธาร เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในระยะยาว คนไทยจะแข็งแรง และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งต่อไป

ด้านนางสาวแพทองธารกล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ซึ่งได้ช่วยลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงจัดการฐานข้อมูลทั้งหมด

ก้าวต่อไปของการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ประชาชนทุกระดับสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก และร้านขายยาใกล้บ้าน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพให้สะดวกรวดเร็ว โดยยึดหลัก “ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง” เช่น นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงทีผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงมีกระบวนการในการพัฒนานโยบายอย่างถี่ถ้วน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือต้องดูแลสุขภาพให้ดีทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม ของพี่น้อง และได้นำเสนอ 13 นโยบายสำคัญ ได้แก่ โครงการเกี่ยวเนื่องกับพระราชดำริด้านการสาธารณสุข, การปิดช่องว่างในการให้บริการในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่, การดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด การดูแลมะเร็งครบวงจร, การดูแลบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน, การแพทย์ปฐมภูมิ, การดูแลพื้นที่เฉพาะกลุ่มเปราะบาง, สถานชีวาภิบาล, พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย, บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, พัฒนาคุณภาพประชากร, พัฒนาเป็นกระทรวงที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และสุดท้ายเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน

โดยผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ได้ให้ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายต่อที่ประชุม ดังนี้

  • สำหรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งจะสามารถรับบริการได้ทั้งในและนอกหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการต่อไป
  • ส่วนนโยบายมะเร็งครบวงจร จะครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการคิกออฟทีม Cancer Warrior ในปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะ 5 มะเร็งสำคัญ คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก และคิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และคิกออฟ คัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยี PET/CT Scan SPECT/CT
  • ส่วนสถานชีวาภิบาล จะพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5 พันคน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home ทุกจังหวัด โดยจะมีการเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือนธันวาคม 2566
  • สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
  • ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด ยึดหลักการ “เพื่อนแท้มีทุกที่” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวช ทุกจังหวัด นอกจากนี้ จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม
Written By
More from pp
เอ็กโก กรุ๊ป ปิดดีลซื้อหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้า “ไรเซ็ก” 609 เมกะวัตต์ พร้อมลุยตลาดสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ปิดดีลซื้อหุ้นเสร็จสมบูรณ์ 49% ใน “โรดไอแลนด์ สเตท...
Read More
0 replies on ““แพทองธาร” ร่วมหารือปรับแผนยกระดับ 30 บาทพลัส”