“อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ๒ – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

เข้าเรื่อง ความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ฉบับรวบรัด ภาค ๒-๓ ต่อจากภาค ๑ เมื่อวานได้เลยครับ
……………………………..

HistofunDeluxe

ภาค II กำเนิดรัฐอิสราเอล
• 1897
“ชาวออสเตรีย” เชื้อสายยิวนามว่า “ธีโอดอร์ เฮิร์ตเซิล” (Theodor Herzl) ได้ก่อตั้งขบวนการ “ไซออนิสต์” (Zionist) องค์กรที่มีเป้าหมายสำคัญในการก่อตั้ง “รัฐของชาวยิว” ในดินแดนปาเลสไตน์
—–

• 1917
“ปฏิญญาบัลฟอร์” (Balfour Declaration) อังกฤษ สนับสนุน “ขบวนการไซออนิสต์” ในการก่อตั้ง “รัฐชาวยิว” ในปาเลสไตน์
—–

• 1918
ดินแดนของ “จักรวรรดิออตโตมัน” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของ “อังกฤษ” และ “ฝรั่งเศส”
โดยดินแดน “ปาเลสไตน์” อยู่ภายใต้ “การปกครองอังกฤษ” ในสถานะ “รัฐอารักขา”
—–

• ทศวรรษที่ 1920
ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ ก่อให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้น
—–

• ทศวรรษที่ 1930
ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น ทางการอังกฤษพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย
และออกนโยบาย “จำกัดจำนวนของชาวยิว” ที่จะอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์
—–

• ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945)
ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปถูก “นาซีเยอรมัน” จับเข้าค่ายกักกันและถูกสังหาร เกิดเหตุการณ์ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” (Holocaust) ที่ทำให้มีชาวยิวล้มตายมากกว่า 6 ล้านคน
—–

• 1945
หลัง “สงครามโลกครั้งที่ 2” สิ้นสุด ชาวยิวนับล้านคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เดินทางเข้าไปในปาเลสไตน์ ปัญหาระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง
—–

• 1947
ทางการอังกฤษไม่สามารถยุติความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายได้ อังกฤษจึงถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อทาง “สหประชาชาติ” เพื่อให้เป็นผู้แก้ไขปัญหา

สุดท้ายสหประชาชาติก็มีมติให้ “แบ่งดินแดน” ของปาเลสไตน์ ออกเป็น 2 ส่วน คือ “ดินแดนของชาวยิว” กับ “ดินแดนของชาวปาเลสไตน์” โดย “กรุงเยรูซาเล็ม” อยู่ภายใต้การดูแลของ “สหประชาชาติ”
—–

• 1948
วันที่ 14 พฤษภาคม ดินแดนของ “ชาวยิว” ในปาเลสไตน์ประกาศ “ก่อตั้งรัฐอิสราเอล” (State of Israel) โดยมี “เดวิด เบนกูเรียน” (David Ben Gurian) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล

การก่อตั้ง “ประเทศอิสราเอล”….. ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับกลุ่มประเทศอาหรับ ดังนั้น “กลุ่มประเทศอาหรับ” ซึ่งประกอบไปด้วย อียิปต์, ซีเรีย, จอร์แดน, เลบานอน และอิรัก จึงได้ก่อตั้ง “สันนิบาตอาหรับ” (League of Arab) เพื่อต่อต้านอิสราเอล
—–

• 1948-1949
“สันนิบาตอาหรับ” ส่งกองทัพบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 1 ปรากฏว่าอิสราเอล (ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ) สามารถ “เอาชนะ” กองทัพของสันนิบาตอาหรับได้

แม้ว่าสันนิบาตอาหรับจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่สันนิบาตอาหรับก็สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของอิสราเอลได้
โดย “อียิปต์” เข้ายึดครองดินแดนที่เรียก ‘ฉนวนกาซ่า’ (Gaza Strip)

“จอร์แดน” เข้ายึดครองดินแดน ‘เวสต์แบงก์’ (West Bank)

นอกจากนี้ “กรุงเยรูซาเล็ม” ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ “เยรูซาเล็มตะวันตก” เป็นของ “อิสราเอล” “เยรูซาเล็มตะวันออก” เป็นของจอร์แดน

ผลของสงครามในครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ที่บัดนี้กลายเป็นของอิสราเอล ไปยังดินแดนประเทศอาหรับรอบๆ ข้างแทน
—–

• 1956
เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) หรือสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 2 “อังกฤษ” และ “ฝรั่งเศสส” สนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับ “อียิปต์” แต่ชัยชนะในสงครามตกเป็นของอียิปต์
—–

• 1964
“ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต” (Yasser al-Arafat) ผู้นำของชาวปาเลสไตน์ก่อตั้ง “องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์” หรือขบวนการ PLO เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์จากชาวยิว
—–

ภาค III ความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
• ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1980
PLO ก่อเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายภายในอิสราเอล
—–

• 1967
สงครามหกวัน (Six Day War) หรือ “สงครามอาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 3 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงคราม และยึดครองฉนวนกาซ่าและเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้

นอกจากนี้ อิสราเอลยังยึดครองแหลมไซนาย (Sinai) ซึ่งเป็นดินแดนของอียิปต์ได้อีกด้วย ที่สำคัญ อิสราเอลยังยึดครอง “เยรูซาเล็มตะวันออก” ที่เป็นของจอร์แดนได้ “เยรูซาเล็มทั้งหมด” จึงตกเป็นของอิสราเอล

ก่อนที่ในปี 1980 อิสราเอลจะประกาศให้ “เยรูซาเล็ม” เป็นเมืองหลวงของประเทศ
—–

• 1973
“สงครามยมคิปปูร์” (Yom Kippur War) หรือสงคราม “อาหรับ-อิสราเอล” ครั้งที่ 4 อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะสงครามและยึดครองดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์
—–

• 1978
อิสราเอลและอียิปต์ทำข้อตกลงสันติภาพ “แคมป์เดวิด” (Camp David Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง
—–

• 1982
อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปในเลบานอน เพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวอยู่ในเลบานอน
ชาวเลบานอนบางส่วนจัดตั้งกลุ่มติดอาวุ ธ”ฮิซบอลเลาะห์” (Hezbollah) เพื่อต่อสู้กับอิสราเอล
—–

• 1985
กลุ่ม “ฮิซบอลเลาะห์” ขับไล่กองทัพอิสราเอลให้ออกไปจากเลบานอนได้สำเร็จ นับแต่นั้น “ฮิซบอลเลาะห์” จะกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดในเลบานอน
—–

• 1988
วันที่ 15 พฤศจิกายน “ยัสเซอร์ อัล-อาราฟัต” ประกาศก่อตั้ง “รัฐปาเลสไตน์” (State of Palestine) อาราฟัตประกาศยุติการก่อร้ายของ PLO และจะใช้สันติวิธีเพื่อเจรจากับอิสราเอล

PLO ยังก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “กลุ่มฟะตะห์” (Fatah) ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี ทำให้มีชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจและก่อตั้งกลุ่ม “ฮามาส” (Hamas) ที่เน้นใช้ความรุนแรงในการต่อสู้
—–

• 1993
อิสราเอลและปาเลสไตน์ทำ “สนธิสัญญาสันติภาพออสโล” (Oslo Accord) โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลาง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด “เส้นเขตแดน” ใหม่

โดย “ฉนวนกาซ่า” และ “เวสต์แบงก์” จะตกเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยมีเมือง “รามัลเลาะห์” (Ramallah) ในเวสต์แบงก์เป็น “เมืองหลวงของปาเลสไตน์”
—–

• สถานการณ์ในปัจจุบัน
แม้ว่าอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมาแล้วหลายรอบด้วยกัน แต่ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์เท่านั้น

เพราะภายในปาเลสไตน์เองก็ได้เกิดความแตกแยกกันเองเช่นกัน

โดยภายในปาเลสไตน์ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยบริเวณ “ฉนวนกาซ่า” อยู่ภายใต้อำนาจของ “กลุ่มฮามาส”
ส่วนบริเวณ “เวสต์แบงก์” อยู่ภายใต้อำนาจของ “กลุ่มฟะตะห์” ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่กินเวลายาวนานกว่า 70 ปี (จริงๆ อาจเรียกว่าพันปีก็ได้) ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

สงคราม ความสูญเสีย และความเกลียดชัง ก็ยังคงมีอยู่ในดินแดนแห่งนี้

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน….
ความขัดแย้งก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “กลุ่มฮามาส” ในฉนวนกาซา โจมตีอิสราเอล
เช่นเดียวกับทางการอิสราเอลที่ทำการตอบโต้กลุ่มฮามาสเช่นกัน

นับเป็นเหตุความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี
หวังเพียงว่า สันติภาพจะนำพาความสงบสุขกลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ในสักวันหนึ่ง.
………………………………..

ขอบคุณเพจ “Histofun Deluxe” นะครับ

ผมและท่านผู้อ่าน ต่อจากนี้….
น่าจะติดตามเหตุการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์แบบ “รู้เรื่อง” มากขึ้น

เปลว สีเงิน
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

Written By
More from plew
“เมย์เดย์..เมย์เดย์” คนเห็นผี!
“๘ กรกฏา.” ไม่ใช่วัน “แดงเดือด”! แต่เป็น “วันส้มเดือด” หรือ “วันปลอกแตก” ก็ได้เหมือนกัน สุดแต่ใครพอใจเรียกแบบไหน เพราะวันนี้ “คุณช่อ-พรรณิการ์”...
Read More
0 replies on ““อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ๒ – เปลว สีเงิน”