กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงความคืบหน้าเหตุทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด เกิดจากเจ้าหน้าที่ปลอมแปลงเอกสาร-ลายเซ็น ปัจจุบันสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการแล้ว

​ตามที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวถึงกรณีคดีการทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด มีการปลอมแปลงเอกสารการกู้เงินสหกรณ์ของข้าราชการตำรวจกว่า 423 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 220 ล้านบาท นั้น
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอชี้แจงว่าหลังตรวจพบการทุจริตในสหกรณ์ดังกล่าว เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สั่งการไปยังสหกรณ์จังหวัดลำพูน ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน

โดยได้แต่งตั้งคณะผู้ตรวจการสหกรณ์ประจำจังหวัดลำพูน เป็นการเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการตรวจสอบสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด พร้อมทั้งให้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขข้อบกพร่องภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องแล้วเสร็จ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พบว่ามีเจ้าหน้าที่สหกรณ์ จำนวน 3 ราย (ประกอบด้วย ฝ่ายสินเชื่อ 2 ราย และฝ่ายการเงิน 1 ราย) ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารการกู้เงิน และเปลี่ยนแปลงข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชีหลังการอนุมัติเงินกู้

โดยเปลี่ยนจากการโอนเงินเข้าบัญชีสมาชิกผู้กู้ เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย อย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยสหกรณ์ได้ลงโทษผู้กระทำความผิด ด้วยโทษไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ พร้อมทั้งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่กลุ่มผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด และสรุปสำนวนฯ นำส่งอัยการจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 แต่เนื่องจากอัยการเห็นว่าการทุจริตกระทำมาต่อเนื่องยาวนาน มีความผิดต่างกรรมต่างวาระ และมีค่าเสียหายจำนวนมาก จึงพิจารณาส่งสำนวนคืนให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้รวมความผิดทุกกรรมและความเสียหายทั้งหมด เพื่อให้เกิดผลดีต่อรูปคดีก่อนจะสรุปสำนวนเสนออีกครั้ง

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ระดับสูงที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยปะละเลย หรือช่วยเหลือผู้ทุจริตปกปิดข้อมูลการทุจริต จนนำไปสู่เหตุการณ์ทุจริตของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ สร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์เป็นเงินจำนวนมาก ทางสหกรณ์จึงมีคำสั่ง “ไล่ออกและไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ” ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีส่วนร่วมในการทุจริตร่วมกับผู้กระทำความผิด ก็จะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ฯ โดยคณะทำงานได้ทำการตรวจยึดทรัพย์สิน ที่อาจได้จากการกระทำผิดของผู้ต้องหา ประกอบด้วย เงินสด จำนวน 11 ล้านบาท กระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับ รถยนต์และทรัพย์สินต่าง ๆ จำนวนหลายรายการ โดยจัดให้มีการประมูลทรัพย์สิน ครั้งที่ 1 (กระเป๋าแบรนด์เนม) จำนวน 111 รายการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ได้เงินจากการประมูลทั้งสิ้น 4,459,000 บาท และจะมีการประมูลทรัพย์สินที่เหลือ (เครื่องประดับและรถยนต์) เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ผู้เสียหายในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้จัดประชุมสมาชิกสหกรณ์เพื่อชี้แจงถึงปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น พร้อมวางกรอบระยะเวลาดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการดำเนินการ ตลอดจนตอบข้อซักถามและข้อเรียกร้องของสมาชิก เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ทุกฝ่าย

โดยในส่วนของการดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิก สหกรณ์ได้พิจารณาจัดทำโครงการพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิก ด้วยวิธีการงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกสัญญาเป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566
– 30 พฤศจิกายน 2566 มูลค่ารวมประมาณ 20 ล้านบาท สำหรับสมาชิกที่ถูกกระทำในลักษณะเอาชื่อไปกู้ โดยเพิ่มยอดเงินกู้ให้สูงขึ้น สหกรณ์จะปรับลดให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป

Written By
More from pp
“เพิ่มพูน” เดินหน้า “ปฏิวัติการศึกษาแก้ปัญหาประเทศ” อย่างเร่งด่วน เหตุกระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
21 มิถุนายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย หมายเลขสมาชิก 301005491 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2568...
Read More
0 replies on “กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจงความคืบหน้าเหตุทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จำกัด เกิดจากเจ้าหน้าที่ปลอมแปลงเอกสาร-ลายเซ็น ปัจจุบันสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการแล้ว”