๓ สีในธงไตรรงค์ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เป็นอีกวันที่ต้องจดจำ

วานนี้ (๒๘ กันยายน) เป็นวันครบรอบ ๑๐๖ ปี วันธงชาติไทย

เว็บไซต์รัฐบาลไทย หรือ https://www.thaigov.go.th/ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ธงชาติไทย สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนในชาติ “เพราะธงชาติและเพลงชาติไทย คือ สัญลักษณ์ของความเป็นไทย

คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกราช ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของชาติใด

รวมถึงความเสียสละของบรรพบุรุษไทยทุกยุคสมัย ในการปกป้องรักษาแผ่นดินให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย เมื่อวันที่ ๒๘กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐

ทำไมธงไตรรงค์ถึงมี ๓ สี

ก็เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี ๓ สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์

การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ ดังนี้

สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธํารงรักษาชาติและศาสนา

สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา

สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๐ สำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอให้วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย

ไทยถือเป็นประเทศที่ ๕๔ ของโลกที่มีวันธงชาติ

แต่ก่อนที่จะมีธงไตรรงค์ ต้องย้อนไปสมัยอยุธยา มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติมาก่อน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกัน ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน

ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง เพื่อใช้สำหรับเรือหลวง

นับเป็นครั้งแรกที่แยกธงสำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาว เพื่อใช้สำหรับเรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก ๓ เชือก

ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม

กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรใช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาว มีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง

ถัดมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๑๘

และใน พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธงชาติ คือ ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน

ด้านกว้างแบ่งเป็น ๕ แถบตลอดความยาวของผืนธง

ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๒ ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ ๑ ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ ๑ ส่วน รวมเป็น ธงไตรรงค์

ครับนั่นคือประวัติคร่าวๆ จากธงช้างเผือก มาเป็นธงไตรรงค์ในปัจจุบัน

หลายประเทศประชาชนให้ความเคารพธงชาติ โดยเฉพาะอเมริกา ธงชาติแทบจะได้รับการเคารพสูงสุด บ้านเรือน อาคารสำนักงานเอกชน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ แทบจะไม่ว่างเว้นจากธงชาติ

เพราะธงชาติคือรากเหง้าของประเทศ

แต่กลับมีการสร้างความเข้าใจผิดในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า ธงชาติไทยคือมรดกของฝ่ายอนุรักษนิยม ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเคารพ

เช่นเดียวกับการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลง

นี่คือหนึ่งในปัญหาที่เจอในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่ใช้บริบทในปัจจุบันไปตัดสินอดีต

หลายต่อหลายครั้งจึงพบเห็นความคิดที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ถือเป็นตัวแทนของประชาชน

บางคนจินตนาการผิดๆ ไปไกลถึงยุคพ่อขุนรามคำแหง พระนเรศวร ว่า ประชาชนต่างหากคือผู้สร้างชาติ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์

ในความคิดคือ ประชาชนควรจะเป็นใหญ่ มีอำนาจสูงสุดมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย

กระบวนการทางความคิดที่แยกย่อยไม่เป็นนี้ กลายเป็นเหยื่อถูกชี้นำโดยนักการเมืองเลว ที่ต้องการล้มล้างระบอบการปกครอง

ต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้นักการเมืองได้เป็นใหญ่ อยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือประมุขรัฐแทนพระมหากษัตริย์

ต้องกระตุกเตือนกัน

คิดว่าวันนี้นักการเมืองคือกลุ่มคนที่ไว้ใจได้แล้วอย่างนั้นหรือ

สามารถฝากความคาดหวังโดยไม่มีข้อกังวลใดๆ เลยอย่างนั้นหรือ

ก็ฝากให้คิดกัน อย่าสักแต่เชื่อหัวปักหัวปำว่า นักการเมืองคือตัวแทนประชาชน โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปการเมือง ก็เป็นเรื่องยากที่นักการเมืองจะเป็นตัวแทนประชาชนโดยพฤตินัยได้

การกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ยังพบเห็นกันดาษดื่น ทั้งการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น

นักการเมืองยังเป็นกลุ่มคนที่ต้องผ่านการขัดเกลาอีกเยอะ จึงจะวางใจได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

ฉะนั้นอย่าเชิดชูนักการเมืองมากเกินไป จนทำลายโครงสร้างของประเทศ

หรือแม้แต่ประชาชนเองก็ตาม ตราบใดที่ประชาชนยังเลือกคนโกง คนชั่วเข้าสภา ประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้เต็มปาก

เพราะทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสร้างความเสียหายให้กับประเทศด้วยกันทั้งสิ้น

๓ สีในธงไตรรงค์ จึงไม่อาจขาดสีใดสีหนึ่งไปได้ เพราะจะเสียสมดุล

นำมาซึ่งหายนะ

Written By
More from pp
“อนุทิน” ลงพื้นที่ “กาฬสินธุ์” แก้ปัญหาน้ำท่วม เยี่ยมผู้ประสบภัย ลุยประสานทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขสถานการณ์
8 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหาร
Read More
0 replies on “๓ สีในธงไตรรงค์ – ผักกาดหอม”