ผักกาดหอม
ขอแสดงความยินดีกับครอบครัวชินวัตรครับ…
วานนี้ (๒๘ สิงหาคม) ญาติๆเริ่มทยอยกันเข้าเยี่ยมนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ห้องวีไอพีชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจกันแล้ว
๑๐ คนที่ลงทะเบียนเยี่ยม “ทักษิณ” ก็เป็นไปตามที่คาดหมาย แต่ก็ไม่ทั้งหมด
๑.อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
๒.นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามีของ น.ส.แพทองธาร
3.บุตรสาวของ น.ส.แพทองธาร
๔.น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ หรือเอม กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม
๕.นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น สามีของ น.ส.พินทองทา
๖.โอ๊ค นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโตของนายทักษิณ
๗.น.ส.ณัฐฐิญา ปวงคำ ภรรยาของนายพานทองแท้
อีก ๓ คน เป็นทนายความ
ไม่มีชื่อ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
ว่ากันว่ายาที่วิเศษที่สุดสำหรับผู้ป่วย คือคนในครอบครัว ลูกเมีย รวมถึงหลานๆ พากันเข้าเยี่ยมอย่างใกล้ชิด
หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจบอกว่า “ทักษิณ” ความดันทรงตัว แต่โรคปอด โรคหัวใจ จับเข้าเครื่องเอคโม่ตรวจถี่ถ้วนแล้ว “ยังน่าห่วง”
คุณหมอว่าไงก็ต้องว่าตามนั้นครับ เพราะเป็นเรื่องจรรยาบรรณแพทย์
จรรยาบรรณแพทย์ คือคุณธรรมที่แพทย์ทุกท่านต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด เปรียบได้กับสงฆ์มีพระวินัย ๒๒๗ ข้อกำกับ
ผิดพระวินัยก็เป็นอาบัติ
สาหัสก็ขั้นปาราชิก
คุณธรรมแพทย์ ๖ ประการ ประกอบด้วย…
๑.เน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด (beneficence)
๒.สิ่งที่จะทำต้องเน้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใด ๆ เพิ่มขึ้น (Non-maleficence)
๓.ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม (Autonomy)
๔.การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมมุติฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง (Justice)
๕.ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity)
๖.แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)
หากแพทย์พูดเท็จเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้ป่วย ก็ไม่อาจเป็นแพทย์ที่ดีได้
ฉะนั้นแสดงว่า “ทักษิณ” ยัง “น่าห่วง” จริง
ยังต้องอยู่ในมือหมอ
แต่ก็อย่างที่บอกลูกๆเข้าเยี่ยม กำลังใจดีขึ้นแน่นอน
กำลังใจดี ร่างกายก็ดีตาม ก็ถือเป็นข่าวดี
ก็หวังว่าว่า หลังจากนี้อาการ “ทักษิณ” จะดีวันดีพรุ่ง จนทางกรมราชทัณฑ์สามารถพากลับเข้าเรือนจำได้ในอีกไม่นาน
กลับไปรับโทษเหมือนนักโทษปกติทั่วไป
เว้นเสียว่า กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ เสร็จสิ้นก่อนที่ “ทักษิณ” จะย้ายออกจากโรงพยาบาลตำรวจ
หรืออีกกรณีคืออาการ “ทักษิณ” ทรุดลงเรื่อยๆ ก็ยังกลับเรือนจำไม่ได้
เปล่าแช่งครับ!
เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดาของมนุษย์
การหายป่วยถือเป็นลาภอันประเสริฐ กลับกันการเจ็บป่วยเรื้อรัง จนยากที่แพทย์จะเยื้อชีวิตไว้ได้ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครเลี่ยงได้พ้น
หากเป็นแบบนี้คงไม่ได้กลับเรือนจำ
ฉะนั้นเมื่อหมอใหญ่ซึ่งมีจรรยาบรรณแพทย์เต็มเปี่ยมยืนยันว่า “ทักษิณ” ยังน่าห่วง
ก็แสดงว่าอาการไม่เบาแน่ๆ
“ยังน่าห่วง” ในทางการแพทย์ ญาติๆฟังแล้ว มันคือข่าวร้าย ไม่มีใครอยากให้เกิดกับญาติตัวเอง เว้นญาติที่จิตใจเลวทรามเท่านั้น ที่รู้สึกยินดี!
ช่วงนี้หากเห็นคนในครอบครัวชินวัตรดูเศร้าสร้อยก็คงต้องให้กำลังใจ
แต่ก็มีข้อสงสัยบางประการ ที่ต้องการคำตอบ รายชื่อผู้เยี่ยม “ทักษิณ” มีทนายความ ๓ คนอยู่ด้วย
เข้าไปทำอะไร?
“ทักษิณ” อาการหนักขนาดนั้น น่าจะต้องการแพทย์ และคุณหญิงพจมานมากกว่า ไม่น่าจะต้องพึ่งพาทนายความถึง ๓ คน
จะเข้าไปคุยเรื่องคดีความกับผู้ป่วยที่ “หมอใหญ่” ยืนยันหนักแน่นว่า อาการยังน่าเป็นห่วง อย่างนั้นหรือ
ยังมีคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล และ “ทักษิณ” ยังต้องสู้ต่อไปคือคดีซื้อเครื่องบินการบินไทย
แต่คดีนี้ยังอยู่ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “ทักษิณ” ถูกกล่าวหาว่าอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี ๒๕๔๕-๒๕๔๗ ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
อีกนานครับกว่าจะถึงศาล
ป.ป.ช.ท่านงานเยอะดคีนี้จังยังเงียบอยู่
จึงยังไม่ถึงขั้นต้องฝืนสังขารที่ยังน่าเป็นห่วงคุยกับทนายในตอนนี้
ทำพินัยกรรมหรือ? น่าจะตัดออกไปได้เลย
หรือ “ทักษิณ” เริ่มกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ
มีความเป็นไปได้มากทีเดียวเพราะ ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นต้องใช้ทนายความในการรวบรวมเอกสาร
หลักสำคัญของการขอพระราชทานอภัยโทษ มีอยู่ ๔ ข้อ
๑. คดีต้องมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น
๒. ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ จะต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษา ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือคณะรัฐมนตรี เท่านั้น ทนายความไม่นับเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
๓. ผลลัพธ์มีสามรูปแบบ คือ พระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด พระราชทานอภัยโทษให้บางส่วน และ ไม่ให้พระราชทานอภัยโทษ โดยหนังสือคำสั่งเหล่านี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
๔. หากถูกยกฎีกาไม่ให้พระราชทานอภัยโทษซึ่งไม่ใช่โทษประหารให้ชีวิต ต้องรอไปอีก ๒ ปีนับตั้งแต่มีการยกฎีกาจึงจะยื่นใหม่ได้
ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีชื่อคนในรัฐบาลเป็นผู้ลงทะเบียนเยี่ยมในล็อตถัดๆไป โดยเฉพาะคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
แต่ก็มีข่าวแพลมๆมาว่า “ทักษิณ” ให้ทีมทนายความร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณาการนับอายุความในคดีที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว รวมทั้งคดีที่อยู่ในศาล เสียใหม่
แสดงว่า “ทักษิณ” ยังมีความหวังว่าโทษจำคุกรวมจะเบาลงไปอีก
ถึงบรรทัดนี้เชื่อแล้วครับว่า “ทักษิณ” น่าห่วงจริงๆ
ว่าจะจบแล้วเชียวไถมือถือไปเจอข่าว ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล ไม่เสียภาษี ๓ ปีติดต่อกันก่อนสมัครส.ส.
ผับผ่าสิ!กะจะแย่งซีนกันหรืออย่างไร?