ผักกาดหอม
๖ เมษายน วันจักรี
คนรุ่นหลังส่วนใหญ่ รู้จักแค่ในฐานะวันหยุดราชการวันหนึ่งเท่านั้น
เป็นวันหยุดทั่วไป กิจกรรมที่ทำก็ทั่วไป
ไปเที่ยวไหนดี
กินอะไรดี
ขึ้นทางด่วนฟรี
จะมีสักกี่คนที่มองย้อนกลับไปพินิจพิจารณาว่า ที่มีแผ่นดินนี้อาศัยอยู่ในปัจจุบัน มันเกิดเรื่องราวอะไรในอดีตบ้าง
วันจักรี คือ วันระลึกถึง มหาจักรีบรมราชวงศ์
เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
และทรงสร้างกรุงเทพฯ ในนามกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของสยาม
เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็น เมืองหลวงนั้น มีบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนาม “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์” เป็น “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์”
เริ่มแรกกรุงเทพมหานครฯ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นต้นมา นิยมเรียกว่า “สมัยรัตนโกสินทร์” เช่นที่เคยเรียกระยะเวลาที่แล้วมาอย่างสั้นๆ และเรียกตามชื่อเมืองหลวงว่า “สมัยอยุธยา” และ “สมัยสุโขทัย” เป็นต้น
พระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยรัตนโกสินทร์ สืบสันตติวงศ์ต่อกันมา ในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน ๒๕๖๖ รวมเวลาเกือบ ๒๔๑ ปี
ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูป พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ (ร.๑-๔) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง
และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น
ในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ (ร.๑- ๔) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ
พระที่นั่งองค์นี้ รัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามดังกล่าว
การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๖๑ จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น
และต่อมา โปรดฯ ให้เรียก วันที่ ๖ เมษายนว่า “วันจักรี”
ครับ…ก็เป็นข้อมูลรู้ไว้คร่าวๆ
ไทยไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เฉพาะรัตนโกสินทร์ ก็ ๒๔๑ ปีแล้ว
เรามีรากเหง้า
ที่ต้องกังวลเรื่องนี้ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ตัดตอนเอาเฉพาะตอนที่ตัวเองลืมตาดูโลก
ประวัติศาสตร์ชาติเริ่มที่วันตัวเองเกิดเท่านั้น
ฉะนั้นเราจึงเห็นคนไร้ราก มีพฤติกรรมไร้สำนึกอยู่บ่อยครั้ง
กรณีพ่นสีใส่กำแพงพระบรมมหาราชวังก็เป็นกรณีหนึ่ง
ความตระหนักในความสำคัญของสมบัติชาติ ไม่อยู่ในจิตสำนึกของคนกลุ่มนี้เลย
เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน
คนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นเพียงกำแพงธรรมดา แค่อิฐแค่ปูน มนุษย์สร้างมา
แต่คนส่วนใหญ่เขามองว่า นี่คือสิ่งล้ำค่า
กำแพงพระบรมมหาราชวัง หรือกำแพงวัดพระแก้ว ไม่สามารถประเมินค่าได้ ทั้งในแง่ตัวเงิน และจิตใจ
เพราะคือความเป็นมาของชาติ
การมองต่างมิตินี่เกิดจากสำนึกที่แตกต่างกัน อย่างที่ระบุไว้ข้างต้น
และการมองต่างมิตินี้กำลังสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้ประเทศ เพราะเกี่ยวโยงไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤษภาคมนี้ด้วย
การปะทะทางความคิด เกิดขึ้นในวงกว้าง ในอดีตไม่เคยมีพรรคการเมืองเข้าผสมโรง
แต่ปัจจุบันมีแล้ว
พรรคก้าวไกล
ฉะนั้นผลการเลือกตั้งส่วนหนึ่งคือผลสะท้อนการมองที่ต่างมิตินี้
วานนี้ “ลุงตู่” ฝากบอกนักข่าว ลองเปิดเพลง “ไร้รักไร้ผล” ฟัง
เพลงนี้มาจากบางบทใน บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ “รักชาติบ้านเมือง”
“เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง
ควรคำนึงถึงชาติศาสนา
ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา
ในหมู่ประชาชาวไทย
แม้ใครตั้งจิตรักตัว
จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน
ควรจะร้อนอกร้อนใจ
เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน
จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล
แม้ชาติย่อยยับอับจน
บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง
คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำร่ำไป
ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ
จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย
ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
เพราะฉะนั้นช่วยกันสวามิภักดิ์
จงรักร่วมชาติศาสนา
ยอมตายไม่เสียดายชีวา
เพื่อรักษาอิสระคณะไทย
สมานสามัคคีให้ดีอยู่
จะสู้ศัตรูทั้งหลายได้
ควรคิดจำนงจงใจ
เป็นไทยจนสิ้นดินฟ้า”
ครับ…ชาติใดไร้รักสมัครสมาน ล้วนเปิดประตูสู่หายนะทั้งนั้น และเห็นกันนักต่อนักแล้ว
อยากเห็นประเทศไทยเป็นแบบไหนครับ?