ระวัง ‘นายใหญ่’ พาจน – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ซุ่มเสียงพรรคเพื่อไทย ค้านนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ดูอ่อนลง

จากที่ยืนยันหัวชนฝา กฎหมายนิรโทษกรรม ต้องไม่รวมผู้กระทำผิด ม.๑๑๒

ผ่านไปแค่ข้ามคืน แทงกั๊ก อ้างว่าฟังความรอบข้างก่อน

เป็นความเปลี่ยนแปลงฉับพลันหลังอัยการออกมาพูดเรื่อง “อายัด” ตัว “น.ช.ทักษิณ ชินวัตร” จากคดี ม.๑๑๒

วานนี้ (๘ กุมภาพันธ์) “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ที่รับหน้าที่เป็น ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร พยายามไกด์ไลน์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะยกร่างกันในเร็วๆ นี้

“…แนวทางการพิจารณานิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ที่มีความเห็นต่าง และอาจนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ นั้น ต้องฟังความคิดเห็นกัน อย่าไปด่วนสรุปว่าจะมีหรือไม่มีอะไร ต้องดูรอบด้าน อย่าไปถึงขั้นฟันธงเลย…”

ก่อนหน้าเพียง ๑ วัน “ภูมิธรรม เวชยชัย” บอกว่า…

“…เรายืนยันชัดเจนอยู่แล้วเรื่อง ๑๑๒ ต้องเคลียร์กันให้ชัดเจนก่อน เพราะว่าเป็นประเด็นความขัดแย้ง ถ้าคุยกันยังไม่จบ และเสนอเข้ามาแล้วมีเรื่อง ๑๑๒ ก็จะเป็นปัญหา…”

เมื่อพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจุดยืนเช่นนี้ ก็ควรจะมีความชัดเจนที่เป็นทางการในนามพรรค เพราะการนิรโทษกรรมที่รวมไปถึงผู้กระทำผิด ม.๑๑๒ ด้วยนั้น เป็นประเด็นที่ล่อแหลมที่อาจทำให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ซ้ำรอยกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์

คือก่อความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ขึ้นมาอีก

โดยตัวมาตรา ๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญา มีเพื่อปรามไม่ให้ก่อความผิดที่นำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะการจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ใช่การหมิ่นประมาทระหว่างบุคคล

แต่มีความมั่นคงแห่งรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ที่ผ่านมาจึงมีผู้เจตนาทำผิดซ้ำซาก

และท้าทาย

เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงตามที่ตัวเองต้องการ

อาศัยกติกาตะวันตกบีบเพื่อให้เกิดภาพกฎหมายไทยมีความล้าหลัง

ฝั่งผู้ร้องมองเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การจะเหมาว่าใช้ ม.๑๑๒ เพื่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง ก็ไม่อาจกล่าวอ้างได้อย่างเต็มปาก แม้จะมีนักการเมืองบางส่วนใช้ ม.๑๑๒ เพื่อขจัดฝ่ายตรงข้าม

เพราะมีการเจตนาทำผิด ม.๑๑๒ เพื่อหวังผลทางการเมืองเช่นกัน

ทางออกเรื่องนี้จึงควรปล่อยไปตามกระบวนการยุติธรรม

ส่วนการแก้ไข ม.๑๑๒ สามารถทำได้ ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีการของพรรคก้าวไกล

แต่ถือเป็นเรื่องดีที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” จะเชิญ “ศ.ดร.คณิต ณ นคร” ประชุมกรรมาธิการฯ ด้วย เพราะมีการศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมมาพอสมควร

หากยังจำได้กัน หลังเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง มีรายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดที่มี “ศ.ดร.คณิต ณ นคร” ออกมาเพื่อให้รัฐบาลนำไปเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดอง

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เก็บเข้าลิ้นชัก เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

รายงานฉบับนี้ระบุถึงความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจาก ม.๑๑๒ รวมทั้งข้อเสนอแนะ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้แทบไม่มีนักการเมืองคนไหนเปิดอ่าน

จับมาปัดฝุ่นอีกครั้งครับ…

“…การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับประเด็นและความขัดแย้งในทางการเมือง ทำให้ปัญหาทางการเมืองลุกลามบานปลาย จนเกิดความแตกแยกของประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่งผลให้คนบางส่วนเกิดการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทำการจาบจ้วงหรือกระทบกระทั่งต่อสถาบัน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏว่ามีการนำกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง โดยโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาเกิดความคับแค้นใจ และส่งผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คอป. จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ คอป. เห็นว่าข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของของ คอป. เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้รับการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการเมือง พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ซึ่งยังคงพาดพิงหรือมีพฤติกรรมที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นทางการเมือง

คอป. ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่าการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองจะยิ่งทำให้สถาบันตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ คอป. ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ คอป.ว่า

“ในห้วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะยกย่องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่อยู่เหนือจากความขัดแย้งทางการเมือง”

และทุกฝ่ายต้องงดเว้นการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมืองกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

คอป. เรียกร้องให้นักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการให้เกิดผลอันเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง โดยอาจกำหนดชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติ

เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในสถานะที่สามารถดำรงพระเกียรติยศได้อย่างสูงสุดภายใต้รัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

คอป. เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มีการระวางโทษในอัตราที่สูง ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด จำกัดดุลพินิจของศาลในการกำหนดโทษที่เหมาะสม ไม่มีความชัดเจนในขอบเขตที่เข้าข่ายตามกฎหมาย

และยังเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ สามารถกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีได้ ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือกำจัดศัตรูในทางการเมือง

คอป. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและรัฐสภาจักร่วมกันแสดงความกล้าหาญในทางการเมือง เพื่อขจัดเงื่อนไขของปัญหาจากกฎหมายดังกล่าวด้วยการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่างๆ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาปรับใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสังคมไทย การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลและรัฐสภาจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงว่าจะไม่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีกระบวนการที่เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง เพื่อแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

คอป. จึงเห็นว่า รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันมีความเป็นเอกภาพ และดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ โดยกำหนดให้มีกลไกหรือองค์กรในการกำหนดนโยบายทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะคดี และกลั่นกรองคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบัน

โดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนา แรงจูงใจในการกระทำ สถานภาพของบุคคลที่กระทำ บริบทโดยรวมของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำและการดำเนินคดี โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

ครับ…รายงานฉบับนี้เผยแพร่ปี ๒๕๕๕ ขณะที่ความขัดแย้งประเด็น ม.๑๑๒ ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน

ก่อนปี ๒๕๕๕ การเจตนาทำผิด ม.๑๑๒ เพื่อหวังผลทางการเมือง เกิดขึ้นน้อยมาก

เมื่อพฤติกรรมการทำผิด ม.๑๑๒ เปลี่ยนไป มีเจตนานำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้ง

ล่าสุดมีความพยายามจะขัดขวางขบวนเสด็จฯ อ้างว่าปิดถนนทำให้รถติด

ทั้งๆ ที่ไม่มีการปิดถนน แต่เป็นการขับรถจี้ท้ายขบวนเสด็จฯ และบีบแตรไล่

ฉะนั้นหากจะใช้รายงานของ คอป. เป็นต้นแบบ สิ่งที่ต้องเติมคือ ขบวนการล้มล้างสถาบันได้เผยตัวตนออกมาชัดเจน ต่างไปจากความขัดแย้งเหลือง-แดง ในอดีตอย่างสิ้นเชิง

การนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ จึงมีผลไม่ต่างจากการจุดไฟความขัดแย้งรอบใหม่

ครั้งนี้เป้าหมายคือการล้มล้าง

Written By
More from pp
กรมการจัดหางาน เผยผลการดำเนินการมาตรการจ้างงาน ช่วงวิกฤติโควิด – 19
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้การจ้างงานภายในประเทศชะลอตัว สถานประกอบกิจการปิดตัวลง จนเกิดปัญหามีผู้ว่างงานจำนวนมาก นั้น
Read More
0 replies on “ระวัง ‘นายใหญ่’ พาจน – ผักกาดหอม”