“ทิพานัน” กางแผนแม่บท MR-MAP พัฒนา “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 10 เส้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เชื่อมโยงภูมิภาค

“ทิพานัน” กางแผนแม่บท MR-MAP พัฒนา “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 10 เส้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เชื่อมโยงภูมิภาค ลดพื้นที่เวนคืนได้ 1.35 แสนไร่ ลดค่าเวนคืน 2 แสนล้านบาท สะท้อนวิสัยทัศน์ “พล.อ.ประยุทธ์”ผู้นำความเจริญในทุกมิติ

27 กรกฎาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ รองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้หลายโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทั้งทางถนน และทางราง ทั้งนี้ ยังได้ติดตามอย่างใกล้ชิดในแผนพัฒนาต่อไปเพื่อรองรับอนาคต

ซึ่งล่าสุดกรมทางหลวง รายงานสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map) หรือ MR-MAP ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 กำหนดส่งผลการศึกษาปลายปี 2566 นี้ จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการตามผลศึกษาต่อไป

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้การศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เป็นการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองปี 2559 บูรณาการกับแผนพัฒนาระบบราง โดยวางแผนการพัฒนาพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ ซึ่งการวางแผนและก่อสร้างมอเตอร์เวย์ควบคู่กับทางรถไฟไปพร้อมกัน จะทำให้ใช้เขตทางที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ และรถไฟเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการจราจรและขนส่งสูงสุด และเชื่อมโยงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ลดการเวนคืนพื้นที่ และการแบ่งแยกชุมชน สามารถพัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค

สำหรับการศึกษาเบื้องต้น แผนแม่บท MR-MAP มี 10 เส้นทาง (แนวเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก, เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีระยะทางรวมประมาณ 6,877 กม. (มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้ว และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) และมีแผนพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง 3,543 กม. ประเมินว่าจะลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ และลดค่าเวนคืนได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท

สำหรับแผนพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

– แผนระยะสั้น 5 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 66-70 จำนวน 9 โครงการ ระยะทางรวม 391 กม. มูลค่า 457,000 ล้านบาท ได้แก่

1.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ก่อสร้าง ปี 68 เปิดให้บริการปี 71
2.โครงการบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
3.โครงการบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.10 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
4.ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯรอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทาง 4.20 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
5.เส้นทางนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61.02 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 72
6.เส้นทางสงขลา-สะเดา ระยะทาง 69 กม. กำหนดก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 74
7.ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 19 กม. ก่อสร้างปี 67 เปิดให้บริการปี 70
8.เส้นทางวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออกช่วงทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. ก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73
9.เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กม. ก่อสร้าง ปี 70 เปิดให้บริการปี 73

– แผนระยะกลาง 10 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 71-75 จำนวน 5 โครงการ ระยะทาง 397 กม. มูลค่า 413,200 ล้านบาท ได้แก่

1.นครปฐม-สุพรรณบุรีระยะทาง 70.22 กม.
2.แหลมฉบัง-ปราจีนบุรีระยะทาง 156 กม.
3.วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วงทล.32 – ทล.305 ระยะทาง 67.81 กม.
4.วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ช่วงทล.35 – ทล.35 ระยะทาง 79.07 กม.
5.วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วงทล.35 – นครปฐม ระยะทาง 24.26 กม.

– แผนระยะยาว 11-20 ปี เริ่มก่อสร้าง ปี 76-85 จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 1,138 กม. มูลค่า 775,900 ล้านบาท โดยแผนภาพรวมมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.77%

ส่วนแผนพัฒนาระบบราง ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่รถไฟความเร็วสูง โดยกำหนดแผนพัฒนา 3 ระยะ คือ

– ระยะ 5 ปี (2566-2570) ระยะทางรวม 2,048 กม. มูลค่าลงทุน 601,500 ล้านบาท
– ระยะ 10 ปี (2571-2575) ระยะทางรวม 958 กม. มูลค่าลงทุน 560,600 ล้านบาท
– ระยะ 20 ปี (2576-2585) ระยะทางรวม 2,959 กม.

“การวางโครงสร้างคมนาคมครั้งใหญ่นี้ สะท้อนวิสัยทัศน์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการขยายโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่และ BCG โมเดล วางโครงสร้างเพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนส่งต่ออนาคตที่ดีให้ลูกหลาน” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Written By
More from pp
กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยโรคมือ เท้า ปาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษาระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก เน้นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ข้อมูลต้นปีนี้พบผู้ป่วยกว่า 3 พันรายแล้ว พร้อมแนะ 4...
Read More
0 replies on ““ทิพานัน” กางแผนแม่บท MR-MAP พัฒนา “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 10 เส้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เชื่อมโยงภูมิภาค”