ประเทศต้องรอเพื่อ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตามการเมืองช่วงนี้ลิ้นห้อยครับ

เปลี่ยนไวจนตาลาย

มีเหตุการณ์ผสมโรงแทบจะรายชั่วโมง

สรุปได้คร่าวๆ การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม นี้ต้องเลื่อนออกไป ไม่มีกำหนด

สาเหตุเพราะ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ ๔๑ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภามีมติว่า การยื่นชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำ ถือเป็นการยื่นญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ ๔๑

เป็นธรรมดาครับ ประธานวันนอร์เอง ก็ไม่อยากมารับผิดชอบตอนแก่ หากศาลรัฐธรรมนูญเกิดวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ ต้องคืนสิทธิให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในภายหลัง

ก็สรุปว่าต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็เยอะเสียด้วยซิครับ ไม่รู้จะเอาเรื่องไหนก่อนดี

เฉพาะที่เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ ก็ ๓ เรื่องใหญ่ๆ เข้าไปแล้วสิครับ

เรื่องแรกก็นี่แหละครับ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ ๔๑

เรื่องที่ ๒ เรื่องหุ้นไอทีวี ของ “พิธา”

เรื่องที่ ๓ เรื่อง “พิธา” และก้าวไกล เอาการแก้ม.๑๑๒ ไปหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่

กรณีนี้ถึงขั้นยุบพรรค!

ทั้ง ๓ ข้อ เกี่ยวกับ “พิธา” ทั้งสิ้น

ต้องรอให้จบทั้ง ๓ เรื่องหรือเปล่า เพราะมันมีผลกระทบทางการเมืองที่ใกล้เคียงกันทั้ง ๓ กรณี

ยุ่งตายโหงเลย

เพราะ “พิธา” คนเดียว

ใน ๓ เรื่องนี้ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านจะวินิจฉัยเรื่องไหนก่อนหลัง

คำร้องของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่พ่วงให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยข้อบังคับ ๔๑

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติไว้ก่อน จะมีผลบังคับใช้ไม่เกิน ๖๐ วัน

ถ้าสั่งกลางๆ เดือนสิงหาคม ก็อาจได้เลือกกันอีกทีกลางๆ เดือนตุลาคม

ก็ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอีก ๒ คดีไปหรือยัง

“ลุงตู่” ก็รักษาการไปเรื่อยๆ

เผลอๆ เป็นนายกฯ ๙-๑๐ ปี ห้ามโวยก็แล้วกัน เพราะมีพวกอยากลากยาวดเยอะ อยากเลือกนายกฯ หลังวุฒิสภาชุดนี้หมดวาระ

เห็นมือกฎหมายชั้นเอกที่หนึ่งของเพื่อไทย ชื่อ “นรวิชญ์ หล้าแหล่ง” บอกว่า คิดผิด คิดใหม่ ได้ สว.ไม่ได้อยู่อีกแค่อีก ๑๐ เดือน และ สว.รักษาการณ์ยังมีสิทธิ์เลือกนายกได้

“…แม้ รธน. ๖๐ ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๙ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ ๒๕ สว. ไว้ ๕ ปีซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๗ นี้ก็ตาม

แต่ตราบใดยังไม่มี สว.ชุดใหม่ สว.ชุดเดิมก็ยังคงรักษาการณ์ต่อไป จนกว่า สว. ชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตาม รธน. ๖๐ มาตรา ๒๖๙(๖) + ๑๐๙

คำว่ารักษาการณ์ นั้นเมื่อดู รธน. ๖๐ จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติและบทเฉพาะกาลใด ห้าม สว. รักษาการณ์ เลือกนายกรัฐมนตรีได้

แม้ในประเด็นนี้จะมีความเห็นต่าง แต่เป็นความเห็นทางกฎหมาย อาจมีนักร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ ๒๕๖๑ แล้วจะเห็นได้ว่ามีกระบวนการ ขั้นตอน มาก ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน อย่างน้อย ๖ เดือน หรือ อาจ ๑ ปี ได้

ฉะนั้น คาดว่า สว. ชุดนี้จะอยู่ได้อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งปีครึ่ง หรือสองปี เป็นอย่างน้อย

#พรรคการเมืองรอได้ แต่ประชาชนและประเทศชาติ รอไม่ได้ ครับ#….

คือ…แบบว่า ต้องอ่านบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๗๒ ให้ตกผลึกก่อน

…ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา…

ใจความสำคัญคือ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

วันที่มีรัฐสภา ก็คือวันที่โปรดเกล้าแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ๒๕๐ คน

ซึ่งก็คือวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗ แม้ส.ว.ชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการอยู่ แต่เลยเวลา ๕ ปีไปแล้วครับ ส.ว.ชุดนี้ไม่อาจโหวตเลือกนายกฯได้อีก

มันจบแค่นั้น!

คนเขียนรัฐธรรมนูญเขาล็อกไว้แล้ว

ครับ…ตอนนี้เหตุการณ์มันโยงกันไปหมด โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๓ คดี

ถ้าจะลากยาวไป ๕ เดือน ๑๐ เดือน ประเทศไทยก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย จะคุ้มค่าหรือไม่ก็ไม่ทราบได้

บางคนบอกว่ารอมาแล้ว ๘-๙ ปียังรอได้ กับอีแค่ ๑๐ เดือนทำไมจะรอไม่ได้

ย้ำอีกทีครับ รัฐบาลรักษาการมีอำนาจจำกัดจำเขี่ย ขนาดคนเป็นรัฐบาลอยู่ยังไม่อยากเป็นต่อเลย เพราะมันเจอหายนะเอาง่ายๆ แล้วจะให้รัฐบาลารักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มรับผิดชอบได้อย่างไร

ดูกันอีกทีครับว่ารัฐบาลรักษาการทำอะไรไม่ได้บ้าง

ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ ที่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่

ห้ามอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ก็ยังสงสัยอยู่ว่ารัฐบาลรักษาการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ต่อสภาฯได้หรือไม่

โครงการที่มีงบผูกพันเพียบครับ

โยกย้ายข้าราชการก็ไม่ได้ ที่เกษียณอายุราชการจะทำไง ใครจะมาแทนที่ว่าง ครม.เซ็นอนุมัติได้หรือเปล่า หรือให้ข้าราชการทำกันเอง มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า

เงือนเดือนข้าราชการหล่ะ

เกิดทำงบปี ๒๕๖๗ ไม่ได้ จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายให้ข้าราชการ

ยังมีรายละเอียดอีกเยอะครับ

ยุ่งตายโหงเลย

คิดเล่นๆ หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า การที่รัฐสภามีมติห้ามเลือกนายกฯ ซ้ำนั้น เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ ชื่อ “พิธา” ก็กลับมาใหม่

เกิด “พิธา” ได้เป็นายกฯ แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในภายหลังว่า “พิธา” มีคุณสมบัติไม่ครบเพราะถือหุ้นสื่อ

ก็ต้องเลือกนายกฯ ใหม่

แต่ถ้า “พิธา” ผ่านปมหุ้นไอทีวี หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า การนำม.๑๑๒ มาหาเสียง คือการล้มล้างกาารปกครอง ตัดสิทธิ “พิธา” ยุบพรรคก้าวไกล

ก็ต้องเลือกนายกฯ ใหม่

ฉะนั้น “พิธา” ต้องทำแฮตทริก ชนะทั้ง ๓ คดี ถึงจะมีโอกาสได้เป็นนายกฯ

ใครที่คิดจะลากยาว ก็รอต่อไป ยังไม่ต้องเลือกนายกฯ

จงลืมโอกาสของประเทศไปเลยครับ

ฉิบหายช่างมันขอให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ

0 replies on “ประเทศต้องรอเพื่อ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม”