‘ไทย’ เปลี่ยนแล้ว – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เร็วขึ้น ๑ วัน

รัฐสภาร่นเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรี จากวันที่ ๑๔ กรกฎาคม มาเป็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม เวลา ๐๙.๓๐ น. แทน

“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงแนวทางการโหวตนายกฯ ไว้คร่าวๆ

เรื่องจำนวนครั้งที่ต้องโหวตคงตอบไม่ได้ เพราะหากครั้งแรกไม่มีใครได้เกิน ๓๗๖ เสียง ที่ประชุมรัฐสภาก็ต้องโหวตกันใหม่

“…ในเบื้องต้นผมพูดอย่างเป็นกลางคือ ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมาย และพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว ๓๑๒ เสียง

เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคมก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการเลือกรองประธานคนที่ ๑ ได้คะแนน ๓๑๒ เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกฯ ไม่ใช่เสียงข้างมาก ๓๑๒ เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ ๓๗๖ เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก ๖๔ คะแนน

หากไม่ได้ก็ต้องโหวตให้ได้ ๓๗๖ เสียง และหากวันแรกไม่สามารถถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯ ในนัดครั้งต่อไป…”

“..โดยสรุปคือรัฐสภาต้องประชุมให้ได้นายกฯ ไม่ใช่คุณพิธาคนเดียว หากคุณพิธาได้ก็ถือว่าได้ไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาจนกว่าจะได้นายกฯ เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปบริหารประเทศ เราจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้…”

“…แต่ถ้าหากว่ารายชื่อทั้งหมดที่ส่งไปยัง กกต.ยังไม่ผ่านก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่าให้รัฐสภาเสนอคนนอกได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ยาว เพราะรัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า ๒ ใน ๓ ที่เห็นว่าควรจะให้เสนอคนนอกเข้ามาโหวตในสภาได้ ซึ่งต้องได้ ๓๗๖ เสียงก็ถือว่าเป็นนายกฯ ได้

คิดว่าเราไม่สามารถที่จะไปคาดเดาได้ แต่สิ่งที่สำคัญ คือต้องมีนายกฯ และเป็นนายกฯ ที่บริหารประเทศต่อไปได้…”

กระบวนการขั้นตอนเลือกนายกฯ ก็มีอยู่เท่านี้

อันดับแรกต้องเข้าใจให้ตรงกันครับว่า เสียงข้างมาก กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดนั้น มันคนละความหมายกัน

ประเด็นนี้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมาสนใจการบ้านการเมืองสับสนกันอยู่ไม่น้อย เพราะคิดว่าพรรคก้าวไกลคือเสียงข้างมาก

รัฐบาลใหม่จึงต้องเป็นพรรคก้าวไกล และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี

ฉะนั้นให้เข้าใจตามที่ “วันนอร์” ได้บอกไว้

องค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมี ๕๐๐ เสียง

เสียงข้างมากคือ ๒๕๑ เสียง

ส่วนองค์ประชุมของรัฐสภา คือสภาผู้แทนราษฎร บวก วุฒิสภา ๒๕๐ เสียง รวมแล้วมี ๗๕๐ เสียง

เสียงข้างมากคือ ๓๗๖ เสียง

ในการเลือกนายกฯ ถ้า “พิธา” ได้ไม่ถึง ๓๗๖ ก็ถึงคิวรายชื่ออื่น แล้วแต่ที่ประชุมจะเสนอใคร ซึ่งต้องเป็นรายชื่อที่ยื่นไปกับ กกต.

อีกสัปดาห์เดียวก็น่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วครับ

แต่ควันหลงเลือกประธานสภาฯ ก็ยังน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ต้น เหตุใดพรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้ตำแหน่งนี้ตกไปอยู่กับก้าวไกล

ทั้งๆ ที่หาก เพื่อไทย ร่วมรัฐบาลกับ ก้าวไกล โดยที่ประธานสภาฯ เป็นของก้าวไกล แทบจะไม่มีผลทางการเมืองใดๆ ต่อพรรคเพื่อไทยเลย

กลับกัน หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน โดยที่ประธานสภาฯ เป็นของก้าวไกล อันนี้มีผลกระทบกับเพื่อไทยอย่างชัดเจน

ฉะนั้นการเลือกนายกฯ ยังต้องจับตาอย่ากะพริบ!

เห็นคำให้สัมภาษณ์ของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” แล้ว ก็ยิ่งชัดเจน

“…ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดอะไรเลย เป็นการถอยคนละก้าว ผมคิดว่าพอท่านวันนอร์ขึ้นมาเป็นประธานสภาฯ ตลาดหุ้นขึ้นเยอะสิบกว่าจุดเลย แสดงให้เห็นว่าสังคมตอบรับ ส่วนจะมีด้อมส้ม หรือแฟนคลับวิจารณ์ผมอย่างไรไม่เป็นไร แต่การเสนอทางออกเป็นท่านวันนอร์แบบนี้ ไม่ว่าคุณแพทองธาร หรือทางพรรค เห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดี และเราพร้อมหนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ รวมถึงทำเพื่อประชาชนเห็นการเปลี่ยนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ…”

ถอยเพื่อ!

ทำไมต่างฝ่ายต่างต้องถอย

ถ้าไม่คิดอะไรเลยทำไมต้องยกให้ “วันนอร์”

ก็ไหนบอกว่าพร้อมร่วมรัฐบาลกัน และผลักดัน “พิธา” เป็นนายกฯ

ข้ออ้างกลัว ส.ส.ไม่พอใจ หากเก้าอี้ประธานสภาฯ ตกเป็นของก้าวไกล ฟังขึ้นหรือครับสำหรับพรรคเพื่อไทยที่กดปุ่มรีโมตจากคนแดนไกล

แต่ถ้าบอกว่าเป็นการเล่นเกมสองหน้า ดูจะสมเหตุสมผลกว่า

และเล่นได้เนียนตามาก

พรรคก้าวไกลจะเชื่อตามที่เพื่อไทยแสดงออกมาหรือไม่ ก็แล้วแต่บุญทำกรรมแต่งครับ

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม เมื่อชื่อของ “พิธา” ไม่ผ่าน ๓๗๖ เสียง ก็เตรียมตัวไว้ครับ

วันนั้นเพื่อไทยก็คงยกมือให้ “พิธา”

แต่เมื่อ “พิธา” ไปไม่ถึงดวงดาว หนังม้วนใหม่จะเริ่มฉายทันที

รอบ ๒ ก็เป็นไปได้ว่า ๘ พรรคยังคงจับมือกันอยู่ เปลี่ยนแค่ชื่อแคนดิเดตนายกฯ จาก “พิธา” เป็น “อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา-ชัยเกษม” คนใดคนหนึ่งในสามคนนี้

หากไม่ผ่านอีก ก็ต้องเลือกรอบ ๓

รอบนี้เพื่อไทยมีความชอบธรรมด้วยประการทั้งปวงที่จะสลับขั้ว

ครับ…ประเมินสถานการณ์คร่าวๆ ที่จะเกิดในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ก็ประมาณนี้

แถมท้ายข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่คนไทยจำนวนหนึ่งทำตัวให้รู้สึกว่าไม่ค่อยอยากจะเสพข่าวดีนี้สักเท่าไหร่

มีรายงานจาก Logistics Performance Index 2023 (LPI 2023) ในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของ World Bank ประเทศไทยทำคะแนนได้ดีครับ

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ ๓.๗ คะแนน

เป็นอันดับที่ ๒๕ จาก ๑๓๙ ประเทศทั่วโลก

ย่านอาเซียน เป็นที่ ๒ รองจากสิงคโปร์

โครงสร้างพื้นฐานคือพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ

ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีจะพัฒนาต่อยอดได้รวดเร็วกว่าประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ในแง่มุมนี้ช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา พัฒนาไปไกลมาก จนผิดหูผิดตา

นี่คือการเปลี่ยนประเทศไทยครับ

เปลี่ยนโดยรัฐบาลที่ถูกด่าว่าเป็นเผด็จการ

Written By
More from pp
“อนุทิน” ขอทุกฝ่ายมองเหตุผล ชี้ ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ ไม่กระทบเพียงคนในสภา ทว่ากระเทือนกันหมด !
15 มิถุนายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงอารมณ์กองเชียร์ฝ่ายการเมือง ว่า
Read More
0 replies on “‘ไทย’ เปลี่ยนแล้ว – ผักกาดหอม”