ผักกาดหอม
ไม่น่าจะหลีกเลี่ยงได้แล้ว
ก็คงมีม็อบลงถนน หลังเลือกนายกฯ เสร็จครับ
เพราะฟัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อธิบายเรื่องการแก้ ม.๑๑๒ ที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเสียงข้างมาก มีความกังวลในประเด็นนี้เป็นพิเศษแล้ว ดูเหมือนจะท้าทาย เสียมากกว่าขอความร่วมมือ
นักข่าวถามว่าหากเรื่องการแก้ไข มาตรา ๑๑๒ ทำให้ไปไม่ถึงนายกฯ วางแผนไว้อย่างไร
คำตอบจาก “พิธา” คือ
“…หากมีเป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะถือเป็นการนำเสียงของประชาชนปะทะกับสถาบันโดยตรง ไม่เหมาะสมและอันตราย ดังนั้น อย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างอีกเลย…”
เพิ่งจะรู้ครับว่า “พิธา” และพรรคก้าวไกล มองว่าการขวางแก้ ม.๑๑๒ คือการ นำเสียงประชาชน ซึ่งก็คือประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ไปปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง
ไม่น่าเชื่อครับว่า จะขู่ ส.ว.กันซึ่งๆ หน้าอย่างนี้
ฉะนั้นวุฒิสมาชิกทุกคนพึงรับทราบ หากท่านนำประเด็นการแก้ไข ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล มาเป็นเหตุไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ เท่ากับท่านเป็นคนปลุก “ด้อมส้ม” ปะทะกับสถาบันพระมหากษัตริย์
นี่คือการส่งสัญญาณอันตรายโดยนักการเมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้แทนราษฎร แต่เป็นผู้แทนเฉพาะราษฎรที่เลือกตนเอง
“พิธา” คิดถึงประชาชนอีกจำนวนมหาศาล ที่ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลแก้ ม.๑๑๒ บ้างหรือไม่
คิดบ้างหรือไม่ว่า กำลังจะกลายเป็นผู้ก่อสงครามกลางเมืองขึ้นมา
วานนี้ (๒๗ มิถุนายน) แนะให้พรรคก้าวไกลรู้จักถอยเสียบ้าง แต่เห็นทีจะเปลืองหมึกเปลืองน้ำลายเปล่า เพราะหลับหูหลับตาพุ่งชนอย่างเดียว
เมื่อเลือกมาทางนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับผลของมันด้วย
การให้สัมภาษณ์วานนี้ “พิธา” โกหกในสาระสำคัญของการแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล
“…มีข้อมูลที่หลายฝ่ายยังเข้าใจผิด เพราะการแก้ไข คือ การแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับวุฒิสภา ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น…”
ไม่ทราบว่าฝ่ายไหนยังเข้าใจผิด
แต่ สาระสำคัญการแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล มีการพูดถึงกันมาก เพราะแก้ไข ก็เท่ากับยกเลิก
ไม่ทราบว่า ส.ว.ท่านใดไปหลงคารมพรรคก้าวไกลว่า การแก้ ม.๑๑๒ นี้มีเพื่อปกป้องประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์
เพราะคนที่อยู่รายรอบพรรคก้าวไกลเต็มไปด้วยแก๊งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
และคนที่กลายเป็นผู้ต้องหา จำเลย คดี ม.๑๑๒ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งนั้น
ไม่มีนอกเหนือจากเครือข่ายนี้เลย
ฉะนั้น ไม่มีใครเข้าใจผิดเรื่องที่พรรคก้าวไกลจะแก้ ม.๑๑๒
ส่วนใหญ่เข้าใจดีด้วยซ้ำว่าในเครือข่ายล้มเจ้าประกอบด้วยใครกลุ่มไหนบ้าง
มันไม่ใช่เรื่องทึกทักเอาเอง
แต่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย โดยเฉพาะในโซเชียล
สอบทานย้อนกลับไปสิครับ
ไม่ผิดแน่นอน การแก้ ม.๑๑๒ คือการเปิดประตูสู่การล้มล้าง
เพราะอะไร?
เพราะโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่พรรคก้าวไกลแก้ไขนั้นเบาหวิว จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือโทษปรับอย่างเดียว
และมีส่วนที่ “ยกเลิก” อย่างจะแจ้ง จะอ้างว่าแก้ไขไม่ได้เลยคือ การยกเลิกไม่ให้ ม.๑๑๒ อยู่ใน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด ๑ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกต่อไป
นี่คือการยกเลิกอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรสำเร็จ จะกระทบกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในทันที
การที่พรรคก้าวไกล โยก ม.๑๑๒ ไปอยู่ในกลุ่มคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เทียบเท่ากับบุคคลธรรมดา คือการลดสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
เช่นนี้แล้วมี ส.ว.คนไหนเข้าใจพรรคก้าวไกลผิดอย่างที่ “พิธา” บอกบ้าง
มาที่เรื่องม็อบจะลงถนนเมื่อ “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มวลชนสีส้มจะปะทะกับสถาบันโดยตรง เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่?
ทันทีที่ม็อบสีส้มลงถนน คนที่ต้องรับผิดชอบคือพรรคก้าวไกล และ “พิธา” เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการปลุกระดม แต่มีการยุยงต่อเนื่องนับแต่การเลือกตั้งผ่านพ้นมา
แกนนำมวลชน ด้อมส้ม หัวขาว หัวดำ พากันชี้ให้ลงถนน อ้างว่าคือทางเลือกเดียวในการต่อสู้กับเผด็จการ!
วาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการ สูตรสำเร็จนี้ ยังคงมีผู้คนจำนวนมากคล้อยตาม ว่าสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับก้าวไกลล้วนคือเผด็จการ
หักพรรค ๒ ลุงออก ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา วันนี้ก็ยังมีชุดความเชื่อว่าเป็นเผด็จการ เพราะยังอยู่ฝ่ายลุง
อีกทั้งยังเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล
พูดง่ายๆ มันคือการล็อกขั้วการเมืองที่สร้างขึ้นโดยพรรคก้าวไกล
สารพัดกับดักที่พรรคก้าวไกลวางเอาไว้เพื่อให้ตัวเองสะดุด กำลังมาบรรจบกันในช่วงเวลาแห่งการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร และนายกรัฐมนตรี
ดีลลับ “ดูแม้ว” ที่อังกฤษ จะมีจริงหรือไม่ มันคือปลายเหตุ ไม่สำคัญเท่า ความเย่อหยิ่ง และแปลกแยก ของพรรคก้าวไกล
วันนี้แม้ ๘ พรรคจะได้ชื่อว่า “ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” แต่พรรคก้าวไกล ก็ยังมีความแปลกแยกจาก ๗ พรรคที่เหลือ
ประเด็นหลักที่ทราบกันอยู่แล้วนั่้นคือการแก้ไข ม.๑๑๒ ที่ก้าวไกลถูกปฏิเสธจาก ๗ พรรคอย่างสิ้นเชิง
หลายคนอาจมองข้ามความจริงในข้อนี้ไป ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นตัดสินว่า “พิธา” จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่
ก็อยากให้ ส.ว.ที่ยังลังเล ตระหนักให้มากถึงความรับผิดชอบทางการเมืองที่จะตามมาหลังการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี
ขนาด ๗ พรรคยังห้ามนำการแก้ ม.๑๑๒ มาไว้ในเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล เพราะไม่อยากร่วมรับผิดชอบกับพรรคก้าวไกล
แต่พรรคก้าวไกลยังดื้อรั้นเก็บไว้เป็นนโยบายพรรค และจะนำเข้าสู่สภาอย่างแน่นอน
แล้ว ส.ว.บางคนยังมีความคิดจะเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ยืนกรานจะ “แก้ไข” เท่ากับ “ยกเลิก” ม.๑๑๒ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนั้นหรือ
รับผิดชอบไหวหรือเปล่า