ผักกาดหอม
การเมือง กับ การเจรจาต่อรอง เป็นของคู่กัน
นักวิชาการรุ่นใหม่บอกว่า ถ้าการเมืองมีการต่อรองคือการเมืองยุคเก่า ประชาชนไม่ได้อะไร มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
ก็อาจจะจริงในส่วนเล็ก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
การเมืองอเมริกาวันนี้ยังต่อรองกันหนักหน่วง
การเมืองโลกยิ่งหนักว่า ล็อบบี้ยิสต์เดินสวนไปมาแทบจะชนกันตาย
ฉะนั้นการเมืองไทย ก็ยังต้องเจรจาต่อรองครับ
โดยเฉพาะการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี หนีไม่พ้นการเจรจาต่อรอง
ที่จริงภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การเลือกประธานสภาผู้แทนฯ และนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ยากเย็นมากนัก หากพรรคการเมืองรู้จักการเจรจาต่อรอง
ไม่ใช่ยืนกระต่ายขาเดียว จะเอาตามความคิดของตนเอง
การที่พรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. ๑๕๑ คน มีคนลงคะแนนให้ ๑๔ ล้านเสียง แทนที่จะเป็นประโยชน์ในการต่อรอง
กลับกลายเป็นหลังพิงให้พรรคก้าวไกลมีความก้าวร้าวมากขึ้น
ว่ากันตามหน้าเสื่อ หากพรรคก้าวไกล ยอมถอย ยังไม่แก้ ม.๑๑๒ พับนโยบายนี้ใส่ลิ้นชักไว้ก่อน การเลือกนายกฯ จะง่ายกว่านี้อีกมาก
การขอเสียงจากวุฒิสมาชิกสัก ๗๐ เสียง เป็นเรื่องมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว
ที่สำคัญสามารถลดความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย
แต่…ก้าวไกล ยังคงยืนกราน แก้ ม.๑๑๒ ต่อไป
ฟัง “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล แสดงความคิดความอ่านเรื่อง ม.๑๑๒ แล้ว ก็เกรงจริงๆ ครับว่า ม็อบจะลงถนนกันอีกรอบ
มีการร้องขอให้ก้าวไกลลดเพดานแก้ ม.๑๑๒ ลง แต่คำตอบจาก “ชัยธวัช ตุลาธน” คือ…
“…นโยบายและความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรค ทุกคนที่เป็นคนไทยได้แสดงออก ตัดสินใจไปแล้วพร้อมกันผ่านการเลือกตั้ง ในฐานะประชาชนที่มี ๑ สิทธิ์ ๑ เสียง
เพราะฉะนั้นขั้นตอนการเลือกนายกฯ ในสภา เรายังหวังว่าทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีกับบ้านเมืองจะยึดมั่นว่า ถ้าพรรคการเมืองไหนรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ได้ก็ควรเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ควรจะเป็นในระบบรัฐสภา…”
เหมือนจะบอกว่า ๑๔ ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ไฟเขียวให้แก้ ม.๑๑๒
ถ้ายังยืนกรานอย่างนี้เดินไปข้างหน้ายาก
สุดท้ายการเมืองมาติดขัดที่ ม.๑๑๒ ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนี้
พรรคก้าวไกลมีนโยบายเศรษฐกิจ สังคม ดีๆ หลายนโยบาย และสามารถนำไปปฏิบัติได้
จำได้ว่าในวันที่ ว่าที่ ๗ พรรคร่วมรัฐบาลขอให้ก้าวไกลเขี่ยการแก้ ม.๑๑๒ ออกจากเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล และก้าวไกลยอมตาม ในวันนั้นโซเชียลที่สนับสนุนก้าวไกล พากันให้กำลังใจ และบอกว่าที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่เพราะอยากให้แก้ ม.๑๑๒ เป็นหลัก
แต่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศบ้าง ไม่อยากวนเวียนอยู่กับนักการเมืองหน้าเก่า
นี่คือสิ่งที่ก้าวไกลควรฉวยเอาไว้ เพื่อให้การตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำเดินหน้าไปได้ และเกิดขึ้นได้จริง
ไม่ใช่รัฐบาลทิพย์ นายกฯ ทิพย์
อาจจะมีบ้างมวลชนฮาร์ดคอร์บางส่วนที่ไม่พอใจ แต่เชื่อว่าไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่
ในเมื่อบอกว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในฝ่ายตนด้วย
ครับ…ก็เป็นข้อเสนอแนะที่เริ่มเห็นจาก ส.ว.บางส่วน ถึงความห่วงใยในความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจาก ความพยายามในการแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล
แต่…ก้าวไกล ยังใส่เกียร์ถอยไม่ค่อยเป็น
มีคำถามที่น่าสนใจจากนักข่าว ถาม “ชัยธวัช ตุลาธน” ว่าพรรคก้าวไกลมองฉากทัศน์ไว้กี่แบบในวันโหวตนายกฯ
คำตอบคือ…
“…หวังว่าจะมีเพียงฉากทัศน์เดียว เพราะหากมีฉากทัศน์อื่นก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ ทั้งที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมา
ฉากทัศน์ที่วางไว้จะจบภายในครั้งเดียวหรือไม่ ผมมองว่าอันที่จริงควรเป็นเช่นนั้น หลายฝ่ายเองก็กังวลว่ากระบวนการดำเนินไปแบบไม่ปกติ ไม่มีความชัดเจนทางการเมือง ก่อให้เกิดความกังวลในเสถียรภาพทางการเมือง ก็จะกระทบกับหลายๆ ส่วน
ประชาชนที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ที่วันนี้เป็นเรื่องแปลกที่มีการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว
แต่เศรษฐกิจก็ตอบรับในทางลบ เพราะมีความกังวลใจในเรื่องความชัดเจนว่า ผลในการจัดตั้งรัฐบาลจะสอดคล้องเป็นไปตามเสียงของประชาชนหรือไม่ ดังนั้นดีที่สุดกับทุกฝ่ายคือดำเนินไปตามผลของการเลือกตั้ง…”
ก็หมายความว่า หากไม่ใช่รัฐบาลก้าวไกล นายกฯ พิธา จะเกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง
การระบุว่าทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายคือดำเนินไปตามผลการเลือกตั้ง มีความกำกวมอย่างมาก
เพราะหากการตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล และนายกฯ ไม่ใช่ “พิธา” มันก็คือ การดำเนินการตามผลการเลือกตั้งเช่นกัน
ฉะนั้นแกนนำพรรคก้าวไกล ควรเรียนรู้เพื่อแยกแยะการทำงานการเมือง ว่ามันต่างกับการทำงานมวลชนอย่างไรให้ได้ก่อน
หากยังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ ความขัดแย้งไม่ได้มาจากคนอื่น
ก้าวไกลนั่นเอง เป็นผู้จุดไฟความขัดแย้งขึ้นมา
ลองกลับไปชั่งน้่ำหนักดู ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการไม่แก้ ม.๑๑๒ กับ การแก้ ม.๑๑๒ อย่างไหนจะรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าประเทศไทยมากกว่ากัน
ที่จริงมันตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่เพราะทิฐิทางการเมือง กับความฮึกเหิมว่ามี ๑๔ ล้านเสียงเป็นแรงยุ ก้าวไกลจะไม่ยอมถอยให้ใครเลย
วันนี้ เศรษฐกิจตอบรับในทางลบ ไม่ใช่เพราะยังตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จอย่างเดียว แต่ปัจจัยหลักมาจากแนวนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลต่างหาก ที่นักลงทุนพากันหวาดผวา
หุ้นไทยร่วงมาร่วมเดือน เพราะนักลงทุนต่างชาติขนเงินออกไปก่อน รอดูความชัดเจนว่า หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะมาไม้ไหน
ไม่งั้นหนีไม่ทัน
วันนี้หลุด ๑,๕๐๐ จุด
แย่กว่าช่วงโควิดระบาดเสียอีก
ครับ…เมื่อก้าวไกล ไม่ยอมถอยกรณี แก้ ม.๑๑๒ ก็ต้องยอมรับผลที่จะเกิดหลังจากนี้ด้วย ซึ่งอาจหมายถึงรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ ไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่ามีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการ ตามที่มีผู้ร้อง “พิธา” และพรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายแก้ ม.๑๑๒ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่อัยการสูงสุดไม่หือไม่อือ จนเลยเวลาที่ต้องดำเนินการภายใน ๑๕ วัน
เป็นอีก ๑ ปมที่จะตัดสินอนาคตของ “พิธา” และก้าวไกล
หากดึงดันจะแก้ ม.๑๑๒ ต่อ อย่าร้องว่าถูกรังแก
เพราะแกนั่นแหละทำตัวเอง