‘เศรษฐา ทวีสิน’ ร่วมวงเสวนา ‘ในนามของความรัก’ ย้ำ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ต้องผลักดันให้สำเร็จในรัฐบาลชุดหน้า เสนอทุกฝ่ายเร่งทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม เพื่อสร้างแนวร่วมสนับสนุนกฎหมาย
24 มิถุนายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนาในกิจกรรม ‘ในนามของความรัก’ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนผู้กำกับภาพยนตร์ เพื่อเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ ซึ่งจัดโดยคณะนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ Thinklab
โดยเศรษฐา ได้กล่าวว่า เรื่องสิทธิเท่าเทียมกันเป็นเรื่องสำคัญในสังคม หลายคนเข้าใจผิดว่าเขาขอสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ จึงเกิดความเข้าใจผิดและต่อต้านว่าถ้ายกระดับเป็น ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ แล้วกังวลว่าจะไปลิดรอนสิทธิของเขา
1. เรื่องสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายทางเพศนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมครอบครัวที่บ้านเรา อยู่ในสังคมที่ทำงาน ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้โอกาสตรงนี้มากเพราะเห็นความสำคัญ และ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ก็คือเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดให้ได้ก่อน ส่วนกฎหมายลูกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คำนำหน้านาม การเกณฑ์ทหารของกลุ่ม LGBTQ+ หรือ สิทธิรักษาพยาบาลผ่าตัดอะไรต่างๆ นั้น ก็จะค่อยๆ ดำเนินการต่อไป แต่ไม่ใช่เอาประเด็นเล็กมาพูดคุยกันและกลบจนประเด็นใหญ่คือเรื่องสมรสเท่าเทียมไม่เกิด
2. กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อย ได้แสดงความต้องการอย่างชัดเจนว่าต้องการกฎหมายที่จะช่วยดูแลสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ซึ่งกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นกฎหมายที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้นำมาเป็นนโยบายและให้คำมั่นว่าจะทำทันที เมื่อสองพรรคการเมืองนี้กำลังจะเป็นรัฐบาล ดังนั้นทั้งสองพรรคจึงไม่สามารถถอยหลังได้ และต้องผลักดันเดินหน้าให้สำเร็จในรัฐบาลหน้า
3. แนวคิดการสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีความหลากหลายทางเพศ จุดสำคัญคือ จะต้องทำให้คนหมู่มากให้การยอมรับและเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องหาช่องทางสนับสนุนให้สังคมมีความเข้าใจ หาช่องทางการตลาดเข้ามาเสริม เช่น การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสื่อสารถึงกลุ่มต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไปในทิศทางที่เหมาะสม
4. เศรษฐา ยกตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ เช่น ทำอย่างไรที่จะผลักดันภาพยนต์ที่ผลิตโดยผู้กำกับคนไทย ไปฉายบนเครื่องบินการบินไทย อาจจัดเที่ยวบินพิเศษพีอาร์เชิญชวนผู้เกี่ยวข้องขึ้นเครื่องบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉายหนังของผู้กำกับคนไทย พร้อมประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ สอดแทรกเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เขาเรียกร้อง สื่อสารให้ชัดเจนว่า เราอยากได้เพื่อความเท่าเทียม ไม่ใช่สิทธิพิเศษ พูดสื่อสารเรื่องใกล้ตัวให้โดนใจคนหมู่มาก และเขาก็จะช่วยกันผลักดันให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสำเร็จได้