ผักกาดหอม
ยังอยู่ที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรครับ…
เพราะต้องจบในวันที่ ๖ กรกฎาคม
เสียงฮึ่มๆ จากเพื่อไทย ยังคงดำเนินต่อไป ผิดกับก้าวไกล ที่ดูเงียบจนผิดปกติ
ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า เพื่อไทย จะไม่ยอมให้ ก้าวไกล ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ไปครอบครอง
“ชลน่าน ศรีแก้ว” ที่กั๊กมาตลอด ก็เริ่มร้องเพลงเดียวกับ “อดิศร เพียงเกษ” แจกแจงเหตุว่า ทำไมตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นของเพื่อไทย
“…พรรคมีหลักการในการทำงาน เราแคร์ความรู้สึกทุกฝ่าย ซึ่งทุกฝ่ายหมายถึง พรรคร่วมที่เราไปทำสัญญาร่วมกัน
แต่ความรู้สึกที่เราต้องแคร์มากที่สุดคือความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่เรายึดถือเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือการแคร์ความรู้สึกสมาชิกพรรค โดยเฉพาะคนที่เป็น ส.ส.
ฉะนั้น เราต้องมองทุกมิติให้ครอบคลุม…”
ก็แสดงว่าความรู้สึกของก้าวไกลอยู่ในลำดับท้ายๆ ซึ่งไม่แปลกอะไร เพราะเพื่อไทยไม่ใช่สาขาของก้าวไกล
แต่เป็นศัตรูในสนามเลือกตั้งโดยตรง
ก้าวไกลที่ดูเงียบเชียบ เพราะอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หันไปทางไหนก็ล้วนมีแต่กับดักที่ตัวเองวางไว้
การเดินไปข้างหน้าแต่ละก้าวจึงยากลำบาก
ถึงวันนี้ก็ยังมองไม่ออกอยู่ดีว่า หาก ก้าวไกล และเพื่อไทย ต่างก็ส่งคนชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ก้าวไกลจะโหวตอย่างไรให้ชนะ
หรือแม้กระทั่ง หากขั้วรัฐบาลเดิมเสนอชื่อคนของเพื่อไทย ก็ยิ่งตอกย้ำว่า ก้าวไกล จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
มีทางเดียวจริงๆ ที่ก้าวไกลจะเสพสมอารมณ์หมาย คือ เพื่อไทยยอมโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
แล้วจะเป็นไปได้หรือ?
ด่านแรกว่ายากแล้ว ด่านที่สองสาหัสกว่า
ทำอย่างไรให้สมาชิกวุฒิสภาโหวตให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
หลายคนคงลืมไปแล้วว่า ช่วงเวลานี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ก้าวไกล และเพื่อไทย เป็นตัวตั้งตัวตี แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๒
“ปิดสวิตช์ ส.ว.”
จุดยืนของ ก้าวไกล ปฏิเสธอำนาจของ ส.ว.อย่างสิ้นเชิง
มีการอธิบายเหตุผลว่า เพราะ ส.ว.มีปัญหา ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่มีความจำเป็นที่ ส.ว.ทั้ง ๒๕๐ คน จะมีอภิสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเทียบเท่ากับ ส.ส. ๕๐๐ คน ที่เป็นตัวแทนของประชาชน
แนวความคิด ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ต่างจากการสังหารหมู่ ส.ว. ๒๕๐ คน ให้สูญพันธุ์ไปจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
๒๕๐ ส.ว. ยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของ ๓ ป. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ความพยายามในวันนั้นล้มเหลวเพราะถูก ส.ว.โหวตคว่ำ
แต่ก็มี ส.ว. ๒๓ คน รับหลักการ
ใน ๒๓ คนนี่เองที่ ก้าวไกล เชื่อว่าจะยอมโหวตให้ “พิธา”
แต่ก็ยังขาดอีกกว่า ๔๐ เสียง
นี่หรือเปล่า ทำให้ “เฉลิม อยู่บำรุง” ทุบโต๊ะว่า ตำแหน่งนายกฯ เป็นคนของเพื่อไทย!
ฟังแล้วเสียวแทน ก้าวไกล
เพราะองค์ประกอบแวดล้อมต่างๆ มันเอื้ออำนวยให้เพื่อไทยอย่างที่ “เฉลิม อยู่บำรุง” ว่าจริงๆ
“…ไม่มีรัฐบาลไหนตั้งง่าย ยากทั้งนั้น ไปร้องเพลงดีดสีตีเป่ามันไม่ใช่ ยังรายงานตัว ส.ส.กันยังไม่ครบเลย นี่เพิ่งเริ่มต้น
จะมีรัฐบาลมีตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ขอให้ใจเย็น
คนหนุ่มใจร้อน แต่คนแก่ก็คิดเป็น…”
ก็จริง…
ไม่เคยมีรัฐบาลไหนตั้งง่าย กว่าจะแบ่งเค้กกันลงตัว มีดทื่อไปหลายเล่ม
นั่นเป็นกรณี แบ่งขั้วกันชัดแล้ว
หน้าตาพรรคร่วมรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลง
ที่ต้องคุยนานเพราะต้องแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ให้แต่ละพรรคไปตามสัดส่วน ถ้าลงตัวเร็วก็จบเร็ว แต่ส่วนใหญ่ต่อรองกันจนวินาทีสุดท้าย
เสร็จแล้วมาถึงขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุด คือแต่ละพรรคเอาโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีไปแบ่งกันเอง
เขย่ากันพรรคแทบแตกก็เคยมีมาแล้ว
แต่ครั้งนี้ยากกว่า
มันยากตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ
แม้ ๘ พรรคจะเซ็นเอ็มโอยูกันแล้ว แต่ในทางการเมือง ยังถือว่าเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เท่านั้น ๘ พรรคพร้อมจะพลิกขั้วได้ในทันทีหากสถานการณ์เปลี่ยน
และมีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นเช่นนั้น
ความไม่ง่ายมันเกิดจากสิ่งที่ ก้าวไกล ทำตลอดช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา
อย่างที่เห็น ก้าวไกล เคลื่อนไหวอย่างหนักกับการ ปิดสวิตช์ ส.ว. ในการปราศรัยเลือกตั้งที่ผ่านมา ปิดสวิตช์ ส.ว. หยุดการสืบทอดอำนาจ ๓ ป. แทบจะทุกเวที
มาวันนี้ การเข้าหา ส.ว.ของ ก้าวไกล ไม่ต่างจากกลืนน้ำลายตัวเอง
ห้ำหั่นแทบเป็นแทบตาย ปิดสวิตช์ ส.ว.ให้ได้ แต่ปิดไม่สำเร็จ
ถึงเวลาเห็นว่า ส.ว.มีประโยชน์ กลับจะใช้ประโยชน์จาก ส.ว.
ในแง่อุดมการณ์ถือว่า ใช้ไม่ได้
ย้อนกลับไปดูข้ออ้างปิดสวิตช์ ส.ว.สิครับ ก้าวไกล ให้พรเอาไว้เยอะ
เป็นสมุนเผด็จการ
ไม่ยึดโยงประชาชน
เป็นปรสิตการเมือง
ตัวผลาญภาษีของประชาชน
สรุปคือ วุฒิสภา เป็นองค์กรที่ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง
แต่มาวันนี้ ก้าวไกล ต้องการให้ สมุนเผด็จการ ปรสิตการเมือง ช่วยยกมือโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี
กลับไปอ่าน นิทานชาดก “โคนันทิวิสาล” ตอนนี้ก็สายไปเสียแล้วครับ