ตำแหน่ง “ตรีปิฎกาจารย์” – เปลว สีเงิน

คลิกฟังบทความ…?

เปลว สีเงิน

มี “ข่าวเล็กๆ” แต่ “เรื่องใหญ่” อยู่ข่าวหนึ่ง ที่อยากทำให้แจ้ง
ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ตรงกันข้าม เป็นเรื่องน่ายินดีด้วยซ้ำ
แต่ก็นั่นแหละ ข่าวนี้ ไม่ระบุวัน/เวลาและที่มา-ที่ไป รวมทั้งรายละเอียดของเรื่อง
เมื่อมีคนนำมาโพสต์ เรื่องดีๆ จึงกลายเป็นเรื่องผิดกาลเทศะ สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมากมาย

ผมเอง เห็นวันแรกยังแชร์ด้วยซ้ำ!

นั่นคือข่าว ด้วยข้อความ ที่ว่า…….
สถาบันนวนาลันทาอินเดีย ถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎกอาจารย์” ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฏก
แด่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตโต” นับเป็นรูปที่สองของโลก ต่อจาก “พระถังซัมจั๋ง” หรือภิกษุเสวียนจั้งของจีน

เห็นทีแรก เข้าใจว่าเป็น “ข่าวด่วน” มาก่อน
เดี๋ยวรายละเอียดคงตามมา เรื่องเช่นนี้ ไม่ใครปั่น “เฟกนิวส์” แน่

แต่ก็ไม่มี มีแต่คนนำข้อความเดิมมาแชร์ต่อกันมากขึ้น
มาอ่านพิศอีกที สะดุดใจตรงคำ “ตรีปิฎกอาจารย์”

ว่า เอ๊ะ…
“สถาบันนวนาลันทาอินเดีย” ต้นภาษาแท้ๆ ทำไมใช้คำว่า “ตรีปิฎกอาจารย์” ข่าวนี้ ชักจะยังไง?

คือคำนี้เป็น “คำบาลี”
“ตรีปิฎก” คำหนึ่ง กับ “อาจารย” คำหนึ่ง เมื่อคำทั้ง ๒ เป็นคำมีสระหน้าและสระหลัง ก็ต้องสนธิคือ “เชื่อมต่อ” เข้าด้วยกัน

ดังนั้น คำว่า “ตรีปิฎกอาจารย์”
ควรจะเป็น “ตรีปิฎกาจารย์” มากกว่า!

ในความที่เคยเรียนไวยากรณ์แบบงูๆ ปลาๆ สมัยเป็นเณร ก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ ไม่กล้าพูด
เพราะ “ไม่รู้จริง” นั่นแหละ พูดไปก็จะเข้าตำรา “โง่อวดรู้”

ต่อเมื่อวานซืน
พบที่คุณ Kornkit Disthan ผู้แตกฉานประวัติศาสตร์โพสต์ให้ความรู้ เรื่องตำแหน่ง “ตรีปิฎกาจารย์”
ทำให้ผมได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน ก็อยากให้อ่านกัน
……………………….

Kornkit Disthan
ผมเพิ่งเห็นข่าวเรื่องสถาบันนวนาลันทา ถวายตำแหน่ง “ตรีปิฎกอาจารย์” แด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ข่าวว่านับเป็นพระสงฆ์รูปที่ 2 ของโลก ต่อจากพระถังซำจั๋ง

ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเข้าใจผิด หรือผมจะเข้าใจผิดไปเองก็ไม่รู้ แต่ลองฟังความเห็นของผมดูก่อน

“ตรีปิฎกอาจารย์” หรือ “ตรีปิฎกาจารย์”
ควรจะเป็นสมัญญาที่ใช้กันเฉพาะในจีน โดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ถัง มาจากภาษาจีนว่า 三藏法师 ประกอบด้วยคำว่า ไตรปิฎก (三藏) และ ธรรมาจารย์ (法师)

คือพระสงฆ์ที่รอบรู้ในพระสูตร พระวินัย และศาสตร์ทั้งปวง

บางครั้งยังใช้คำว่า ตรีปิฏกภิกษุ (三藏比丘), ตรีปิฏกอริยาจารย์ (三藏圣师) หรือแค่มีสร้อยคำว่า ตรีปิฏก (三藏)

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ไตรปิฎกบาลีนั้นประกอบด้วยพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
แต่ไตรปิฎกจีน ประกอบด้วยพระวินัย พระสูตร และ “ศาสตร์”

หมายถึงปกรณ์ที่แต่งขึ้นโดยเกจิอาจารย์ต่างๆ แต่ยังเน้นที่พระอภิธรรม หรือปรัชญา ว่าด้วยกริยาของจิต

“เกจิอาจารย์” คำนี้ ก็ใช้กันแผลงไปจากโบราณ ทุกวันนี้แปลว่าพระสงฆ์ที่เก่งทางเวทมนต์

แต่ก่อน หมายถึงพระสงฆ์ที่เป็นปราชญ์ทางปริยัติสำนักต่างๆ

ในสมัยราชวงศ์ถัง เต็มไปด้วยพระสงฆ์ที่รอบรู้ มีสำนักนิกาย และเกจิอาจารย์มากมายเหลือคณานับ เป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนา

ผู้คนจึงเรียกคณาจารย์เหล่านี้ว่า “ตรีปิฏกาจารย์แห่งมหาอาณาจักรถัง” (大唐三藏) เรียกสั้นๆ ว่า “พระตรีปิฏกแห่งถัง” (唐三藏)

“พระตรีปิฏกแห่งถัง”(唐三藏) คำนี้ออกเสียงจีนกลางว่า ถังซานจั้ง ออกเสียงอย่างฮกเกี้ยนว่า ถังซำจั๋ง เป็นคำที่ใช้เรียกคณาจารย์เก่งๆ ทั่วไป

แต่เผอิญว่าพระเสวียนจั้ง (玄奘) ผู้ไปศึกษาพระธรรมที่อินดียและนาลันทา ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าใคร
และยังกลายเป็นตัวละครในวรรณคดียอดนิยมเรื่องไซอิ๋ว ซึ่งเรียกท่านว่าถังซำจั๋ง

แต่เวอร์ชั่นจีนเรียกท่านง่ายๆ ถังเซิง (唐僧) แปลว่าพระจากเมืองถัง

ดังนั้น ในการรับรู้ของคนทั่วไป คำว่า “ถังซำจั๋ง” จึงหมายถึงแค่พระเสวียนจั้งเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีพระรูปอื่นๆ ที่ได้สมัญญานามนี้

เช่นพระตรีปิฏกาจารย์อันซื่อเกา (安世高) ผู้นำพระไตรปิฎกมายังจีนและเริ่มแปลเป็นท่านแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น

พระตรีปิฏกาจารย์กุมารชีวะ (姚秦三藏法师鸠摩罗什) สมัยอาณาจักรโห้วฉิน ผู้แปลพระสูตรมากมาย มีวิทยาคมแก่กล้า ถือเป็นอัจฉริยะในรอบพันปี

พระตรีปิฏกาจารย์คุณภัทระ (求那跋陀罗) สมัยราชวงศ์เหนือใต้ แปลพระสูตรไว้มากมายเหลือจะนับไหว

โดยเฉพาะพระสูตรฝ่ายบาลีถูกแปลเป็นภาษาจีนมากในสมัยท่าน (โปรดทราบว่าพระไตรปิฎกภาษาจีนนั้นครอบคลุมไปถึงเวอร์ชั่นเถรวาทด้วย)

พระตรีปิฏกาจารย์ศิกษานันทะ (实叉难陀) ผู้แปล “อวตัมฺสกะสูตร 80 บท” อันเป็นพระสูตรที่ยาวที่สุด พิสดารที่สุด ลึกซึ้งที่สุดสูตรหนึ่ง ต้องเป็นอัจฉริยะเท่านั้นถึงจะทำสำเร็จ

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถัง มีพระตรีปิฏกาจารย์อี้จิ้ง (义净三藏) ซึ่งเดินทางไปอัญเชิญพระวินัยที่อินเดียและแวะผ่านอาณาจักรศรีวิชัย นี่เป็นฝ่ายพระวินัย

มีพระเสวียนจั้ง (玄奘三藏) เป็นฝ่ายพระสูตรและฝ่ายศาสตร์ เดินทางไปอินเดียเพื่ออัญเชิญพระสูตร
งานใหญ่ของท่านคือ แปล “มหาปรัชญาปารมิตาสูตร” เป็นชุดพระสูตรอันยิ่งใหญ่ ในโลกนี้ คงมีแต่ท่านเท่านั้นที่รับภารกิจนี้ได้

ทั้งยังก่อตั้งนิกายอภิธรรมฝ่ายมหายาน คือนิกายโยคาจารในจีน
มีพระอโมฆะวัชระ (不空三藏) นำพระสูตรและปกรณ์ต่างๆ มาเผยแพร่ในแผ่นดินจีน ถือเป็นผู้รอบรู้แห่งยุค ใช้พระธรรมบำบัดทุกข์บำรุงสุข จนราชสำนักเคารพบูชา และเป็นบูรพาจารย์แห่งนิกายมนตรยาน

นี่เป็นเพียงบางส่วน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ โลกเรารู้จักแค่พระเสวียนจั้ง ผู้ผูกขาดสมัญญานาม “ซำจั๋ง”

บางครั้งก็เรียกท่านว่า “พระตรีปิฏกาจารย์วัดต้าฉือเอิน” (大慈恩寺三藏法师) เพราะท่านสถิตที่วัดนั้น

ผมยังค้นข้อมูลไม่พบ แต่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าสมัญญาตรีปิฎกาจารย์นั้น จะถวายให้โดยจักรพรรดิสมัยราชวงศ์ถัง

เช่น กรณีพระญี่ปุ่นรูปเดียวที่ได้สมัญญานามนี้ คือพระเรเซ็น (霊仙) ผู้เดินทางจากญี่ปุ่นไปร่วมแปลพระสูตรที่ฉางอัน
ท่านมีผลงานอันเป็นเลิศ กระทั่งพระเจ้าถังเซี่ยนจงถวายยศ “ตรีปิฎกาจารย์” ให้ท่าน

ฝ่ายบาลีนั้นจะไม่นิยมเรียก “พระตรีปิฏกาจารย์” แต่เรียกว่า “ติปิฏกธร ติปิฏกโกวิท” (Tipitakadhara Tipitakakovida)

เป็นสมัญญานามของพระภิกษุในพม่า ที่จะถวายให้ท่านที่ผ่านการสอบท่องจำพระไตรปิฎกได้หมดทุกตัวอักษรไม่มีตกหล่น

นอกจากนี้ยังมีการตั้ง “ตรีปิฏกาจารย์” (Tripitakacarya) สมัยใหม่ขึ้นมา ผมเห็นมีในลังกา และสถาบันพุทธศาสนาสมัยใหม่บางแห่ง แน่นอนว่า ผู้ที่มีสมัญญานามนี้ จะต้องช่ำชองในปริยัติอย่างยิ่ง

ภาพประกอบนี้ คือรูปเหมือนของพระเสวียนจั้ง สลักขึ้นสมัยคามาคุระของญี่ปุ่น ประดิษฐานที่วัดยะคุชิจิ เมืองนาระ ซึ่งเป็นวัดนิกายโยคาจาร

อันเป็นนิกายที่พระเสวียนจั้งนำมาจากอินเดีย และเผยแพร่ในจีนจนถึงญี่ปุ่น
จะเห็นว่ามือข้างหนึ่งท่านถือคัมภีร์ ข้างหนึ่งแสดงท่าบรรยายธรรม สมกับชื่อผู้เจนจบในพระไตรปิฎก
………………………………

และเมื่อวาน สิ่งที่มะลำมะเลืองในใจ ก็มีคำตอบ จากข้อความที่ “Kanlayanatam” โพสต์ ดังนี้

Kanlayanatam
ข่าวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) ได้ตำแหน่ง ตรีปิฏกาจารย์ จากนาลันทานั้น
พอจ.วัดญาณฯ แจ้งว่า “ข่าวเก่ามากแล้ว”

ท่านได้รับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) มีต้นเรื่องนำมาลงข่าว โดยไม่ระบุ พ.ศ.

สำนักข่าวต่างๆ ก็ไม่ตรวจสอบข้อมูลกัน เอาข้อมูลมาแชร์ต่อๆกัน เป็นข่าวดังพระดัง เป็นอุทาหรณ์อย่างมาก ก่อนที่จะเชื่อสื่อ

ข่าวดีๆ ยิ่งแชร์ยิ่งดี ก็ขออนุโมทนาด้วย
(ภาพหลักฐานส่งมาจากวัดญาณเวศกวัน)
#เช็คก่อนแชร์
………………………………….

ครับ ประโยคนี้ถูกใจ-ถูกต้องที่สุด

“สำนักข่าวต่างๆ ก็ไม่ตรวจสอบข้อมูลกัน เอาข้อมูลมาแชร์ต่อๆ กันเป็นข่าวดังพระดัง เป็นอุทาหรณ์อย่างมาก
…….ก่อนที่จะเชื่อสื่อ”

เปลว สีเงิน

๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๖

Written By
More from plew
คู่หู “ชูวิทย์-บิ๊กโจ๊ก” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน วงการตำรวจนี่ “น่าขยะแขยง” ที่สุด! ยิ่งฟัง “นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” แฉเส้นทางโจร “นายตู้ห่าว” หรือ “ห๋าว...
Read More
0 replies on “ตำแหน่ง “ตรีปิฎกาจารย์” – เปลว สีเงิน”