“อนุทิน” เผย ไทยเข้ารับการประเมินความจำเป็นเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมยาสูบของประเทศ ตามกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทยเข้ารับการประเมินความจำเป็นเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก เพื่อควบคุมและคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทยเข้ารับการประเมินความจำเป็นเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก เพื่อควบคุมและคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมความเข้มแข็งศักยภาพการดำเนินงานควบคุมยาสูบให้เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การจัดการกับปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างยั่งยืน
15 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติร่วมแถลงข่าว การประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ อย่างเคร่งครัด

โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว รวมถึงตรากฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมและคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดจากโทษ พิษภัย และผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งศักยภาพการดำเนินงานควบคุมยาสูบให้เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อประเทศไทย พร้อมสนับสนุนให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดนิโคติน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบ ในการพยายามล่อลวงให้เด็กและเยาวชนเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า ด้วยวิธีการสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความเย้ายวน น่าสนใจและสร้างกลิ่น-รสชาติที่มีความจูงใจ และกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับผู้สูบบุหรี่

โดยประเทศไทยควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการโฆษณาและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักสูบหน้าใหม่เข้าถึงง่าย ควบคู่กับการสร้างการรับรู้และการตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน รวมถึงควรพัฒนาขีดความสามารถการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC

ทั้งในระดับส่วนกลางและขยายลงสู่พื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือเพื่อการควบคุมยาสูบของประเทศ อย่างไรก็ตามสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและประเทศไทย จะร่วมกันจัดทำรายงานการประเมินความจำเป็น (Need Assessment) เพื่อให้ประเทศไทยนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาพัฒนา ปรับปรุงและยกระดับการดำเนินงานต่อไป

ด้าน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า กรอบอนุสัญญา WHO FCTC ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการควบคุมยาสูบซึ่งรัฐภาคีได้มีฉันทามติรับรอง และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลกถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำมาใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ ร่วมมือกันเสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์

กำหนดมาตรการการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่และการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยประเทศไทยนำมาใช้เป็นทิศทางและขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด

Written By
More from pp
รัฐบาล เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุวันลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”
รัฐบาลห่วงใยเตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุเทศกาลวันลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ป้องกันอุบัติเหตุและจมน้ำ ย้ำทุกหน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง เข้มมาตรการรักษาความปลอดภัย
Read More
0 replies on ““อนุทิน” เผย ไทยเข้ารับการประเมินความจำเป็นเพื่อทบทวนมาตรการควบคุมยาสูบของประเทศ ตามกรอบอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก”