เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นาย ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการดำเนินการในเรื่องของหุ้นสื่อของหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า
หลักเรื่องนี้เป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนบุคคลที่เมื่อตั้งใจเข้ามาลง ส.ส. ก็ต้องตรวจสอบสถานะของตนในทุกข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่
เมื่อมีการสงสัยในเรื่องคุณสมบัติ มีการยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. ที่จะต้องไต่สวนพิจารณาให้เกิดความกระจ่างชัดว่าเป็นอย่างไร และในเมื่อไม่สามารถวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ของหัวหน้าพรรคก้าวไกลในช่วงที่ยื่นสมัคร ส.ส.ได้ แต่เมื่อ กกต ได้ทราบเรื่องแล้วก็จำเป็นต้องตรวจสอบต่อไป ตามที่กฎหมายกำหนด
นายราเมศ กล่าวต่อว่าเมื่อได้ประกาศรับรองให้ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็น ส.ส.แล้ว หาก กกต. เห็นว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามมาตรา 82 วรรคท้าย แห่งรัฐธรรมนูญ
ซึ่งให้อำนาจในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อีกช่องทางหนึ่งส.ส.ก็อาจจะเข้าชื่อกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัย ทั้งหมดมีกระบวนการรองรับตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด เชื่อว่าในทุกกรณีก็จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อผลการวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นไรแล้ว การดำเนินคดีอาญาก็มีกระบวนการครอไป ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะฟังใด้ยุติไปในแนวทางเดียวกันสอดคล้องต้องกันได้
นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงปรากฏนอกสำนวนคดีอย่างไร อาจจะมีการนำเสนอของหลายฝ่ายผ่านสื่อ แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาวินิจฉัย ไม่อยากให้มีการชี้นำไปก่อนเพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้