‘ไทย’ หลัง ๑๔ พฤษภาคม – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วานนี้ (๑๔ พฤษภาคม) ลุ้นกันทั้งวัน

เพราะรถติดหนัก

ผู้คนแห่ใช้สิทธิเลือกตั้งกันลานตา

แสดงว่าเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีความตื่นตัวสูงมาก

สูงกว่าครั้งใดๆ ในอดีต

ก่อนรู้ผลเลือกตั้ง ก็คาดเดากันไปครับ

ฝั่งหนึ่งคิดว่าประชาชนตื่นตัวเพราะอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ

อีกฝั่งประเมินว่า ประชาชนกลัว ประเทศเปลี่ยนไปจนรับไม่ได้

แน่นอนครับ ต่างฝ่ายต่างอยากชนะเลือกตั้ง เพราะส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาล และนำนโยบายที่หาเสียงไว้ ไปเป็นนโยบายรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทอดน่องนับแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์

พรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมจากประชาชนคู่คี่กับพรรคเพื่อไทย ตามติดชนิดหายใจรดต้นคอ

แลนด์สไลด์ที่พรรคเพื่อไทยนำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้ง กลับมาทิ่มตัวเอง กลายเป็นแลนด์สไลด์ฝั่งก้าวไกล

ถ้าถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองไหนช็อกที่สุด ก็เพื่อไทยนี่แหละครับ

แต่ ๒ พรรคนี้ คือพรรคอันดับหนึ่ง และสอง

เมื่อผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาเช่นนี้ ก็แสดงว่าหลังรัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศมา ๘ ปี คนไทยส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล

อยากให้ก้าวไกลหรือไม่ก็เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

สิ่งแรกที่ประชาชนทั้งประเทศต้องยอมรับคือ ผลการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบ ต้องยอมรับตามหลักประชาธิปไตย

จากนี้ต้องมองไปข้างหน้า คือการจัดตั้งรัฐบาล

รัฐบาลใหม่จะมีโฉมหน้าอย่างไร?

มีหลายสูตรให้เลือก

การจับขั้วต้องคำนึงถึงเสียงในรัฐสภา ๒ ขยัก

ขยักแรกต้องได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งคือ ๒๕๑ คน

ขยักที่สองต้องได้เสียงจากสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส. บวกกับ ส.ว. เกิน ๓๗๖ เสียง

ตามธรรมเนียมการเมืองไทย พรรคได้อันดับที่ ๑ จะได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ก็ไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองอื่นคุยกัน

พรรคอันดับหนึ่งต้องแสดงศักยภาพในการดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลต้องทำให้เสียง ส.ส.เกิน ๒๕๑ ให้ได้

มาถึงตอนนี้สำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

นอกจากได้เสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ยังได้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนของขั้วการเมืองนี้

หากผ่านไป ๑ เดือนก็แล้ว ๒ เดือนก็แล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะดึงพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมรัฐบาลได้ ก็เป็นหน้าที่พรรคอันดับ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ จัดตั้งรัฐบาลบ้าง

ถึงเวลานี้สูตรจัดตั้งรัฐบาลโดย พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับมือกันตั้งรัฐบาลแทบจะปิดฉาก เพราะเสียง ส.ส.ไม่พอ

ยกเว้นจะใช้แผนรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจะทำให้การเมืองมีความเสี่ยงอย่างมาก

การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องเป็นแค่ระยะสั้น ใช้เวลาก่อนแถลงนโยบายในการดูด ส.ส.ให้กลายเป็นเสียงข้างมากให้ได้

หากทำไม่ได้ก็จบ

แต่สูตรนี้จะเดินไปได้ก็ต่อเมื่อ ก้าวไกล หรือ เพื่อไทย ยอมเปลี่ยนขั้ว

การเปลี่ยนขั้ว เพื่อไทย มีโอกาสมากกว่า

และมีความเป็นไปได้อยู่

หากสำเร็จก็กึ่งๆ รัฐบาลแห่งชาติ

สูตรนี้จะเป็นการโดดเดี่ยว ปล่อยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

อีกสูตรที่พูดกันมาก และบรรดาสาวกอยากให้เป็น คือ ก้าวไกล จับมือกับ เพื่อไทย

มีความเป็นไปได้แค่ไหน?

สำหรับเพื่อไทย ก่อนเลือกตั้งหล่อเลือกได้ ขอตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ไม่เคยออกปากชวน ก้าวไกลตั้งรัฐบาลด้วย

อีกทั้งยังมีกระแสข่าวดีลลับระหว่าง “ทักษิณ ชินวัตร” กับ “ลุงป้อม” ที่เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนกลับไทย

ฉะนั้นยังถือว่ามีความเป็นไปได้สูง

การได้พลังประชารัฐร่วมรัฐบาลหมายถึงได้เสียง ส.ว.จำนวนหนึ่งไปด้วย ถือเป็นดีลการเมืองที่คุ้มแสนคุ้ม

มาถึงประเด็นสำคัญ หากผลเลือกตั้งเป็นทางการ ก้าวไกล มาเป็นที่ ๑ โฉมหน้ารัฐบาล เปลี่ยน มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี จะเกิดอะไรขึ้น

แน่นอนครับจะถูกจับตามองตั้งแต่การเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๑ กำหนดรายละเอียดให้ปฏิบัติตามที่ชัดเจน

ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

หลังผ่านด่านนี้ไปได้ ในการแถลงนโยบาย มีความสำคัญไม่แพ้กัน

นโยบายหลักที่ก้าวไกลนำไปหาเสียงนอกจากลดแลกแจกแถมแล้ว ยังมีนโยบายที่ถูกจับตามองอย่างมาก ดังนี้

๑.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง

๒.การปฏิรูปกองทัพ โดยให้ทหารอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้การเป็นทหารด้วยความสมัครใจ

๓.การกระจายอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

๔.ปราบคอร์รัปชัน

และนโยบายที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ก้าวไกลจะตอบสนองประชาชนที่ลงคะแนนเลือกมาอย่างไร

ปี ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ได้ ส.ส.มากถึง ๒๓๓ ที่นั่ง

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศได้เพียง ๒ ปี กับอีก ๒๗๕ วัน เท่านั้น เพราะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เผื่อแผ่ไปถึง “ทักษิณ ชินวัตร” และนั่นคือจุดเริ่มต้น ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงจุดจบ

ประเด็นแก้ไข ม.๑๑๒ ที่มีเนื้อหาเท่ากับยกเลิกก็เช่นกัน มีความล่อแหลมมากกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมหลายเท่าตัว

“พิธา” จะรับมือไหวหรือไม่

ขณะเดียวกัน หากเพื่อไทย จับมือกับก้าวไกลตั้งรัฐบาล แน่นอนว่าการแก้ไข ม.๑๑๒ จะเป็นเงื่อนไขหลักที่ทั้ง ๒ พรรคต้องคุยกัน

หากเพื่อไทย ตั้งเงื่อนไข ห้ามแก้ ม.๑๑๒ ก้าวไกลจะยอมหรือไม่

ครับ…ผลเลือกตั้งยังไม่อาจชี้วัดได้ว่าใครจะตั้งรัฐบาลกับใคร

แต่นโยบายที่ล่อแหลมอย่างการแก้ ม.๑๑๒ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าโฉมหน้ารัฐบาลใหม่จะเป็นเช่นไร

คงต้องใช้เวลาอีกนานนับเดือน

0 replies on “‘ไทย’ หลัง ๑๔ พฤษภาคม – ผักกาดหอม”