เปลือก..คือศิลปะ? – สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

คุณวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ

ได้โพสต์ข้อความท่ามกลางกระแส “แบนสุพรรณหงส์” ไว้อย่างน่าสนใจ และแม้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯ จะยอมถอย เลิกกติกาแล้วก็ตาม

ผมก็เห็นต้องขออนุญาต คัดลอกนำมาให้คนในวงการ โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯได้ลองอ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ตามนี้..

“ปกติเพจนี้ไม่คุยเรื่องคนบันเทิง แต่ตอนนี้คนบันเทิงกำลังคุยกันเรื่อง #แบนสุพรรณหงส์ ก็ขอแจมหน่อย แต่ในมุมของคนดูหนังและรีวิวหนัง

สรุปข่าวก่อน ผู้จัดงานสุพรรณหงส์เปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ นั่นคือภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงรางวัลต้องเข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัด (กรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช)

หรือต้องมีคนดูตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป คนจำนวนมากเห็นว่ากฎนี้ “ไม่ยุติธรรม” เพราะหนังดีจำนวนมากหาโรงฉายไม่ได้

ผมเชื่อว่ากติกาใหม่นี้น่าจะเลียนแบบรางวัลออสการ์ กติกาใหม่ของออสการ์คือ 1 ต้องฉายติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ในโรงภาพยนตร์ อย่างน้อยวันละสามรอบ

2 ต้องฉายอย่างน้อยหนึ่งในหกเมืองใหญ่ (ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก ซานแฟรนซิสโก ชิคาโก ไมอามี แอตแลนตา) 3 การฉายครั้งแรกต้องเกิดขึ้นที่โรงภาพยนตร์เท่านั้น

ทำไมออสการ์ต้องกำหนดกฎนี้? น่าจะเพราะหลายปีนี้มีหนังสตรีมมิงจำนวนมากต้องการเข้าเวทีออสการ์ด้วย ผู้จัดออสการ์จึงตั้งกฎใหม่มาขวาง

อาจเพื่อต้องการรักษาชีวิตโรงภาพยนตร์ หรืออาจเพราะมีกรอบคิดว่าหนังต้องคู่กับโรงภาพยนตร์เท่านั้น

ความเห็นของผม? ผมทำงานศิลปะมาตลอดชีวิต หลายสาย และพบว่าวงการศิลปะเต็มไปด้วยเปลือก ถ้าไม่ระวัง ก็จะหลุดจากหัวใจของศิลปะไป

ยกตัวอย่าง เช่น สมัยก่อนเป็นหนังเงียบ ในกรอบคิดคนทั่วไปหนังก็ต้องเงียบ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนประดิษฐ์ระบบเสียงขึ้นมาสำเร็จ ถ้ายังยึดมั่นถือมั่นว่า หนังต้องเงียบ ก็ไปต่อไปไม่ได้

เช่นกัน สมัยก่อนหนังเป็นขาวดำ ต่อมามีคนคิดค้นหนังสีสำเร็จ ถ้ายังยึดมั่นถือมั่นว่า หนังต้องเป็นสีขาวดำ ก็ไปต่อไปไม่ได้

นานปีมาแล้วเมื่อหนังสือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ได้รับรางวัลซีไรต์ ก็มีคนอยากให้ถอนรางวัล เพราะหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีบทความแทรกอยู่ด้วย

พวกเขาเห็นว่ารวมเรื่องสั้นก็ต้องเป็นรวมเรื่องสั้น เพิ่มเติมอย่างอื่นไม่ได้

สาระหลักของหนังดี ดนตรีดี จิตรกรรมดี สถาปัตยกรรมดีคือความเป็นศิลปะ ไม่ใช่รูปแบบ เพราะรูปแบบเปลี่ยนไปเสมอ

วันหนึ่งในอนาคตมันอาจไม่มีทั้งฟิล์มเก่าและดิจิตัล แต่เป็นสัญญาณที่ส่งเข้าสมองเราโดยตรง เมื่อนั้นศิลปะจะหายไปหรือ?

กรอบคิดของคนให้รางวัล ทั้งฝั่งฮอลลีวูดกับบ้านเราคือ คิดว่าเปลือกคือศิลปะ

การที่กำหนดว่าหนังต้องฉายกี่จังหวัด ก็เหมือนกำหนดว่าจิตรกรจะเป็นเลิศได้ ต้องวาดบนแคนวาสด้วยสีน้ำมันเท่านั้น วาดบนเศษกระดาษด้วยสีถ่านแล้วไม่เลิศ

ถ้าเป็นนักดนตรีชั้นเลิศก็ต้องเล่นเปียโน ไวโอลิน ถ้าเป่าด้วยขลุ่ยไม้บนหลังควายกลางทุ่งนาแล้วไม่ใช่ศิลปะ

ศิลปะก็คือศิลปะ การยกย่องศิลปะให้ดูที่เนื้องาน ไม่ใช่ที่เปลือก สถานที่จัดแสดง

ระวังอย่าติดกับดักของกรอบคิด เพราะหากข้ามมันไม่พ้น เราก็ไม่มีทางยกระดับงานศิลปะอีกไปอีกขั้น หรือหลายขั้น

ป.ล. ในความเห็นส่วนตัว เราไม่จำเป็นต้องเดินตามฝรั่งที่เริ่มกฎนี้ เพราะบริบทและเบื้องหลังต่างกัน (กฎใหม่นี้อาจจะมาจากการล็อบบี้ก็ได้) หากเราสร้างกฎนี้ วงการหนังไทยจะยิ่งตกต่ำลง

มันไม่ได้ช่วยยกระดับหนังไทยแต่ประการใด ถ้าอยากช่วยจริงๆ เราควรหาทางเพิ่มรอบฉายให้หนังที่ด้อยโอกาสมากกว่า”

จบ!

Written By
More from pp
กรม สบส.สนธิกำลังตำรวจ บุกรวบหมอเถื่อนคาคลินิกย่านศรีวรา สั่งฟันโทษไม่เว้นทั้งหมอและคลินิก
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สนธิกำลังตำรวจบุกรวบหมอเถื่อน แอบอ้างเป็นแพทย์เกียรตินิยม มาลักลอบให้บริการเสริมความงามในคลินิกย่านศรีวรา สั่งฟันโทษทั้งตัวหมอ และสั่งปิดคลินิก 30 วันทันที
Read More
0 replies on “เปลือก..คือศิลปะ? – สันต์ สะตอแมน”