ผักกาดหอม
ยุบแล้วครับ!
ไงต่อ?
ส.ส.ทุกคนสิ้นสภาพ กลายเป็นอดีต ส.ส. นับจากนี้จะไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าจะมีสภาผู้แทนฯ ชุดใหม่
รัฐบาล จะเป็นรัฐบาลรักษาการ มีอำนาจจำกัดจำเขี่ย
รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ารัฐบาลรักษาการ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไข ๔ ประการ ดังนี้
๑.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๒.ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
๓.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
๔.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
จากนี้ไปจนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จสิ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับบทเป็นพระเอก
รัฐธรรมนูญกำหนด กรณีการยุบสภา กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายในกรอบเวลา ๔๕-๖๐ วัน
ภายใน ๕ วัน นับจากยุบสภา กกต.จะต้องออกประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ
การยื่นบัญชีแคนดิเดตนายกฯ
และการกำหนดวันเลือกตั้ง
คร่าวๆ ไม่ ๗ ก็ ๑๔ พฤษภาคม
แต่แนวโน้มน่าจะเป็น ๑๔ พฤษภาคมมากกว่า
น่าจะได้รัฐบาลใหม่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก ๓-๔ เดือนหลังจากนี้ ก็ประมาณนี้ครับ
การยุบสภาโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจาก ฝ่ายบริหารขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่ก็รัฐบาลขัดแย้งกันเอง
รวมทั้งยุบสภาเพราะวิกฤตการเมือง ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล
แต่การยุบสภาครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่พบไม่บ่อยนัก นั่นคือ นายกรัฐมนตรีเลือกได้ว่าจะยุบวันไหน เพราะรัฐบาลบริหารประเทศจนใกล้จะครบเทอม
บนสถานการณ์เงียบสงบ
เหตุผลในพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดย “ลุงตู่” นั้น ระบุไว้แบบนี้ครับ
…ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๒ และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้วสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง…
ถือว่าดูดี สวนทางกับสิ่งที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตีว่า รัฐบาลเผด็จการ ไม่อาจปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมากมายมหาศาล
ถ้าอ่านแล้วเฉยๆ ลองดูเหตุผลประกอบการยุบสภาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ครับ
…โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมกันของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินตลอดจนชื่อเสียงของประเทศชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาด้วยสันติวิธีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจยุติปัญหาดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ และให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง…
ร่ายยาว…
แต่เหตุผลที่ตรงประเด็นสุดคือ มีความขัดแย้งของคนในชาติ
ความขัดแย้งเกิดจาก “ยิ่งลักษณ์” จะออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้พี่ชายตัวเอง
นิรโทษกรรมจากคดีคอร์รัปชัน
มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมเรือนล้าน มากเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นั่นคือสาเหตุที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องตัดสินใจยุบสภา
ฉะนั้นเมื่อเทียบสถานการณ์บ้านเมืองในวันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลประยุทธ์ยุบสภา จึงแตกต่างกันมาก
เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไรถึงต้องหยิบยกขึ้นมา
สำคัญครับ
เพราะเมื่อรัฐบาลเป็นตัวจุดชนวนสร้างความขัดแย้ง จนต้องยุบสภา จะส่งผลไปถึงบรรยากาศในการเลือกตั้งโดยตรง
๒ ครั้งแล้วที่ต้องเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้ง สุดท้ายกลายเป็นการเลือกตั้งโมฆะ
ครั้งแรก การเลือกตั้งวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๙ หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศยุบสภา เพราะการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประท้วงรัฐบาลโกงทั้งโคตร
พรรคฝ่ายค้าน ขณะนั้นประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
และผู้สมัครจำนวนหลายสิบเขต ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโหวตโน
ขณะที่ กกต.จัดคูหาเลือกตั้งแบบใหม่ หันออกนอกหน่วยเลือกตั้ง ทำให้การกาบัตรไม่เป็นอิสระ
สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ครั้งถัดมา วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลัง “ยิ่งลักษณ์” ยุบสภา เพราะความขัดแย้งจากความพยายามออกกฎหมายนิรโทษโกง กลุ่ม กปปส.เข้าขัดขวางไม่ให้มีการลงคะแนนหลายเขตเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อน
ก่อนจบที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเช่นกัน จากสาเหตุการเลือกตั้งไม่ได้ทำวันเดียวกันทั่วประเทศ
จะเห็นว่าทั้ง ๒ ครั้งรัฐบาลเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง
แต่ครั้งนี้บรรยากาศดี พรรคการเมืองเตรียมตัวไปเลือกตั้งมานานหลายเดือนแล้ว
นี่คือสิ่งที่เกิดหลัง “ลุงตู่” บริหารประเทศครบ ๘ ปี