“พีระพันธุ์” สั่งตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาที่ดินม่อนแจ่มใหม่หลังสะดุดมา 23 ปี

“พีระพันธุ์”สั่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงแก้ปัญหาที่ดินม่อนแจ่มใหม่ทั้งหมด หลังชาวบ้านร้องเรียน “กรมป่าไม้” ปฏิบัติตามมติครม.ล่าช้านานกว่า 23 ปี ขณะที่กรมป่าไม้อ้างชาวบ้านไม่ปฏิบัติตามกฎการใช้ที่ดินทำให้เกิดปัญหายืดเยื้อ

14 มีนาคม 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาตามข้อร้องเรียนของชาวไทยภูเขาเผ่าพื้นเมืองม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร้องขอความเป็นธรรมกรณีการจัดการที่ดินทำกิน และขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542

สืบเนื่องจากชาวบ้านหมู่ 4,7 และ 11 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นราษฎรชาวเขาเผ่าพื้นเมืองที่มาตั้งรกรากอาศัยอยูในพื้นที่ตั้งแต่ ปี. พ.ศ.2449 ต่อมาเมื่อชุมชนมีการพัฒนาเจริญขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ได้มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยชาวบ้านทำมาหากินเรื่อยมา

แต่ต่อมาได้เกิดข้อพิพาทในเรื่องที่ดินกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา จนเป็นที่มาของ มติครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้แก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้าน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว จึงอยากให้เร่งรัดขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการต่างๆ โดยเร็ว

ทั้งนี้ ในการประชุมนายพีระพันธุ์ ได้สอบถามปัญหาและอุปสรรคจากกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้รับรายงานว่าปัญหาหลักที่กรมป่าไม้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เนื่องจากพบว่า การใช้พื้นที่ของราษฎรบางกลุ่มผิดเงื่อนไข และกฎหมายการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำเอ 1 โดยพบว่าไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมในการทำมาหากิน หรือในกรณีของการทำที่พักเพื่อการท่องเที่ยวก็มีการก่อสร้างเป็นรีสอร์ท หรือโรงแรมขนาดใหญ่ทำให้ที่ผ่านมากรมป่าไม้ไม่สามารถเจรจากับกับราษฎรได้

อย่างไรก็ตาม หลังได้รับทราบข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายแล้ว นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วและปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากอาจจะไม่สามารถใช้ข้อมูลเก่าๆ มาใช้ในการพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ดังนั้นในแนวทางแก้ปัญหาเห็นว่า ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่หนึ่งชุดประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนราษฎรในพื้นที่เกิดปัญหา และตัวแทนหน่วยราชการอื่นๆ เพื่อเริ่มต้นการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

หากพบว่าจุดใดผิดกฎหมาย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์การใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ก็ต้องแก้ไขดำเนินการให้ถูกต้อง ในขณะที่กรมป่าไม้เองก็จะต้องพิจารณาข้อมูลปัจจุบัน และจะต้องมาประชุมตกลงร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่พอใจทั้งสองฝ่าย และหากจำเป็นที่จะต้องเสนอแก้ไขมติ ครม. เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง

“มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย เพราะฉะนั้นการไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ผิดวินัย มติ ครม.เป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้ วันนี้หากเห็นว่ามีสถานการณ์จำเป็นที่ มติ ครม.เมื่อปี 2542 ไม่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาแล้ว จะต้องปรับปรุงแก้ไข หน่วยงานต้นสังกัดก็ควรจะนำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ปฏิบัติได้ เราอย่าเอาเหตุการณ์เมื่อ 20 กว่าปีมาแก้ไข

ปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพสังคมเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยนหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ทุกคนต้องการที่ทำกิน ขณะเดียวกันรัฐเองก็ดูแลทรัพยากรของชาติ ดังนั้นทุกอย่างจะต้องไปด้วยกันได้ จึงอยากให้มาร่วมกันหาทางออกดีกว่าจะมาขัดแย้งกัน” นายพีระพันธุ์กล่าว

Written By
More from pp
ราเมศ มั่นใจ คดีหุ้นสื่อ เคารพดุลพินิจ ศาลรัฐธรรมนูญ
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมทนายความได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาและอ่านคำวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหุ้นสื่อ ส.ส.ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ว่า
Read More
0 replies on ““พีระพันธุ์” สั่งตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาที่ดินม่อนแจ่มใหม่หลังสะดุดมา 23 ปี”