9 มีนาคม 2566 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของว่าที่ผู้สมัครและตัวแทนชุมชนเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย พปชร. ภายใต้หัวข้อ “บ้านประชารัฐ 360 องศา เข้าใจ เข้าถึง ทำได้จริง” โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัครกทม. พปชร. นักวิชาการ และตัวแทนชุมชน
ประกอบด้วย นางสาวชญาภา ปรีฎาพากย์ ว่าที่ผู้สมัครสส.เขตบางคอแหลม ยานนาวา นายภูวกร ปรางภรพิทักษ์ นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา นายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ ว่าที่ผู้สมัครสส.กรุงเทพ อ.สุนีย์ ไชยรส รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ นายศุ บุญเยี่ยม เลขาชุมชนเชื้อเพลิง 2
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนำเสนอมุมมองและปัญหาที่ของคนกรุงเทพที่เกิดขึ้น ที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยในเวทีครั้งนี้ได้นำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่พรรคมีความเข้าใจปัญหาเมืองในทุกมิติ จากการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการศึกษา วิจัย และ สามารถทำได้ จริงทั้งด้านการเงิน และให้อยู่ได้ภายใต้กรอบของ กฎหมาย ผ่านว่าที่ผู้สมัครทั้ง 33 เขต ที่ได้ลงพื้นที่มาอย่างยาวนาน เพื่อรวบรวมข้อมูล และสะท้อนปัญหาที่แท้จริงของประชาชน สู่นโยบายของกทม. ให้สอดรับกับนโยบายกลางของพรรคในนโยบาย “มีเรา มีที่ทำกิน มีที่ดินไม่มีจน”
“ เราอยากทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยจะมีโมเดล บ้านประชารัฐ ที่เราจะทำเพิ่มเติม ในแต่ละเขต ซึ่งจะหาเขตที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากเขตเอกมัย 19 ซึ่งการทำโมเดล พัฒนาบนพื้นฐาน ทำแบบเข้าใจ เข้าถึงและทำได้จริง มีความเป็นไปได้ทางการเงิน กฎหมาย จะทำอย่างไร เพื่อให้คนกทม.มีบ้าน มีหลักค้ำประกันชีวิต สำหรับครอบครัว ทำให้สังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ในกทม.ที่ดีขึ้น
โดยเริ่มต้นจากเวทีนี้เป็นเวทีแรก และเวทีต่อไปวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่จะมีประเด็นทางด้านมิติสังคม ตามสโลแกนของพรรค “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่” โดยเฉพาะในเรื่องคำว่าก้าวข้าม เป็นก้าวข้ามในมิติด้านใดบ้าง ที่ต้องการแก้ไขปัญหากับประชาชน สังคม และประเทศ”
นางสาวชญาภา กล่าวว่า ภายหลังจากการได้ลงพื้นที่เป็นระยะเวลาหลายเดือน พบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนฐานรากที่เรื้อรังมานาน โดยในปัจจุบันที่ดินในเขตยานนาวามีมูลค่าที่แพงขึ้นมาก ทำให้คนฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนแรงงาน รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ไปจนถึงกลุ่มคัดแยกขยะ ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ใกล้แหล่งงานได้รับผลกระทบอย่างมาก
โดยในเขตยานนาวามีชุมชน 23 ชุมชน ถูกขับไล่ 6 ชุมชน ชาวบ้านต้องไร้ที่อยู่ และบางกลุ่มที่เคยเช่าอยู่ในราคาถูกเมื่อหมดสัญญาก็ไม่ได้รับการต่อสัญญาอีก และมีแนวโน้มอาจถูกขับไล่ ซึ่งปัญหานี้รัฐและเอกชนต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพราะหากประชาชนยังไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ปัญหาจะตามมาอีกมาก ทั้งที่ประชาชนเหล่านี้ก็คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยดูแลบ้านเมือง
“พรรคพลังประชารัฐได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างมาก หากประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน โอกาสด้านต่างๆ จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา คุณภาพชีวิตต่างๆ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น และสังคมที่ดีขึ้นตามมา”
นายภูวกร กล่าวว่า จาการสำรวจพื้นที่อยู่อาศัยของแต่ละชุมชน ในเขตวัฒนาหลายแห่งมีปัญหาถูกไล่รื้อ จากการลงพื้นที่ริมคลอง และ ริมทางรถไฟ มองว่าสามารถนำโมเดลบ้านประชารัฐมาต่อยอดได้ แต่เราต้องใช้การออกแบบยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ คือ ต้องสำรวจสมาชิกในชุมชนว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง ทั้งเด็ก และ ผู้สูงอายุ เพื่อการออกแบบบ้านให้ทุกคนในสังคมอยู่กันอย่างเท่าเทียม และต้องออกแบบให้เหมาะสมกับท้องถิ่นเข้ากับบริบทชุมชนและสังคม
โดยมีการระดมสมองจากทุกภาคส่วน อาจมีการจัดประกวดออกแบบบ้านจากนักศึกษา นักศึกษาต้องไปทำการบ้านกับชุมชน โดยเน้นย้ำการ “อัพเกรดคุณภาพชีวิต” ของประชาชนในชุมชนเมือง รวมถึงการทำสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น การบำบัดน้ำสีย เราเชื่อว่าถ้าบ้านดี สังคมจะดีตามมา
นายระพีพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยมีหลายมิติ สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องมีพื้นที่สันทนาการ สิ่งแวดล้อม และ สาธารณูปโภค เรามองว่าในส่วนของบ้านประชารัฐ คือ แผนระยะสั้น ส่วนแผนระยะยาวเราอยากปฏิรูปที่ดิน จัดสรรใหม่ โดยนำที่ดินธนารักษ์มาช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน สำหรับบ้านประชารัฐอาจมีการปฏิรูปใหม่โดยสร้างเป็นตึกและต้องตอบโจทย์การทำกิน มีที่จอดรถซึ่งเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ทำมาหากิน
นอกจากนี้ เราจะทำที่พักผ่อนหย่อนใจพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้กลายเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน ทำให้เป็นพื้นที่ที่ทำคนในสังคมเมืองใช้ร่วมกัน โดยมองว่าปัจจุบันนี้มีกฎหมายการลงทุนของรัฐกับเอกชนแล้ว เราสามารถเอาที่ดินของรัฐมาปฏิรูปให้เอกชนมาลงทุนแล้วจัดพื้นที่ทำกิน จัดให้เป็นพื้นที่กิจกรรมงานศิลปะเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาเกิดการค้าขายให้เงินไหลเวียน โดยจะต้องหา 1 พื้นที่ 1 เขต จะผลักดันให้โมเดลนี้เกิดขึ้นกระจายทุกเขต เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตให้เราทุกคน
นายตรีสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 15 ฉบับ ทำให้หลายครั้งนโยบายเรื่องที่อยู่อาศัยเกิดการติดขัด และไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐจะทำหากได้รับเลือกเข้าไปในสภา คือ เราจะรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วไปผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหา ทั้งกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้วแต่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และ กลุ่มที่ไม่มีที่อยู่อาศัย
โดยเฉพาะการอุดหนุนงบประมาณผ่านกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยของกทม. โดยจากเดิมที่กทม.ได้งบประมาณเพียง 1 หมื่นล้านบาท ก็จะอุดหนุนเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกับนำที่ดินธนารักษ์ที่คาดว่ามีอยู่ในกทม.ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ มาพัฒนาเพื่อให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และวันนี้พลังประชารัฐก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ว่า ผู้ว่าฯกทม.จะเป็นใคร เราสามารถทำงานโดยก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างแน่นอน
ด้าน อ.สุนีย์ ไชยรส รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต มาร่วมให้ความคิดเห็นในเวทีนี้ด้วย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาคนไม่มีที่ทำกิน ส่วนมากเกี่ยวข้องกับที่ของรัฐ และ ปัญหาก็คือกฎหมายการไล่รื้อจับ มองว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร่งสำรวจภาพรวมว่าใครอยู่ในสถานการณ์อะไร ข้อมูลต้องชัด การวางแผนพื้นที่ทั้งหมดว่าสถานการณ์ ออกแบบการแก้ปัญหาให้นึกถึงระยะยาว ไม่ใช่แค่มีบ้าน จำเป็นต้องมีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เช่น ศูนย์เลี้ยงเด็กคุณภาพใกล้ชิดชุมชน เป็นต้น