ย้อนอดีต ‘อุ้มหาย’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

สัปดาห์หน้าอย่ากะพริบตา!

๒๘ กุมภาพันธ์ ประชุมสภาผู้แทนฯ นัดสุดท้าย ท้ายสุด

เป็นนัดพิเศษเพื่อ พิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ลุ้นว่า สภาจะล่มส่งท้ายหรือไม่

หาก ล่ม จะเกิดอะไรขึ้น

ย้อนความไปรู้จักร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้กันคร่าวๆ ก่อนครับ

ชื่อที่รู้จักกันคือ “พ.ร.บ.อุ้มหาย”

ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

แต่เกิดปัญหาต้องเลื่อนการบังคับใช้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างว่าเป็นเหตุผลด้านงบประมาณ

และความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบเลื่อนบังคับใช้มาตรา ๒๒-๒๕ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ เป็นต้นไปแทน

หมายความว่ามาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์

ยกเว้นมาตรา ๒๒, ๒๓, ๒๔ และ ๒๕

สาระสำคัญมีดังนี้

มาตรา ๒๒ การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว

มาตรา ๒๓ การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา ๒๔ การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว

มาตรา ๒๕ การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างความไม่พร้อมว่าต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ เช่น ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ๑.๗๑ แสนตัว

กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ ๑,๕๗๘ ตัว

กล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ ๖,๒๔๔ ตัว

รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำระบบคลาวด์ (Cloud) โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา

มองในแง่ความพร้อม หากกฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่พร้อม อุปกรณ์ไม่ครบ สิ่งที่จะตามมาคือ การบังคับใช้ทำได้ไม่เต็มที่

และจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องโหว่กฎหมายไปในทางที่ผิดได้

แต่อีกมุม ถือเป็นความบกพร่องในการเตรียมความพร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กฎหมายบังคับใช้แล้วแต่อ้างว่าไม่พร้อมก็เท่ากับบกพร่อง

กฎหมายฉบับนี้ใช่ว่าเพิ่งจะพูดกันมาแค่วันสองวัน

ว่ากันมาเป็นปีแล้ว

และเป็นจริงเป็นจังช่วงปลายปี ๒๕๖๔ หลังเกิดกรณีตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ ทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจนเสียชีวิต

กรณี “ผู้กำกับโจ้” นั่นแหละครับ

หลังจากนั้นรัฐบาลจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ให้สภาพิจารณา

กฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว แต่รัฐบาลต้องการเลื่อนบางมาตรา ขณะที่สภาปิดสมัยประชุมไปแล้ว ทางออกจึงต้องเสนอเป็นพระราชกำหนด

ครับ…นั่นคือที่มาคร่าวๆ

ที่จริงเรื่องกล้องอุปกรณ์ต่างๆ สามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องเลื่อนบังคับใช้กฎหมายบางมาตราก็ได้

และการเลื่อนไปในวันแรกของปีงบประมาณใหม่ถือว่านานเกินไป

ระหว่างจะครบ ๗ เดือนนับจากนี้อาจเกิดกรณีอุ้มหายขึ้นอีกก็เป็นได้

แต่เป็นเรื่องน่ายินดีครับที่พรรคฝ่ายค้าน ให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราออกไป เกรงประชาชนจะถูกอุ้มหาย

อาจเป็นเพราะบทเรียนในอดีต ทำให้พรรคเพื่อไทยคิดได้

หรืออาจเป็นการสำนึกผิด ไม่อยากเห็นประชาชนถูกอุ้มหายอีก

ลองพิมพ์คำว่า “ทักษิณ ชินวัตร” – “สมชาย นีละไพจิตร” ในกูเกิลซิครับ

การอุ้มหายเคยเกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตยแลนด์สไลด์

ทนายสมชายถูกอุ้มหายไปไหนวันนี้ยังไม่มีใครรู้

ที่รู้คือปี ๒๕๔๙ ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก พันตำรวจตรี เงิน ทองสุก ตำรวจกองปราบฯ ๓ ปี เนื่องจากมีส่วนร่วมในการหายตัวไปของทนายสมชาย

ส่วนตำรวจอีกหลายนายที่เหลือถูกตั้งข้อหาขโมยและใช้กำลังในทางมิชอบ

แต่ได้รับการปล่อยตัว

ต่อมา พันตำรวจตรี เงิน หายตัวไป!

ครอบครัวบอกว่า พันตำรวจตรี ถูกกระแสน้ำและดินถล่ม หาไม่เจอ ที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ช่วงกลางเดือนกันยายน ๒๕๕๑

แลนด์สไลด์!

ขณะที่ศาลประกาศให้เป็นบุคคลสูญหาย

หลังการหายตัวไปของทนายสมชาย ช่วงแรก “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ว่า ทนายสมชาย ทะเลาะกับภรรยา

ต่อมาบอกว่า ทนายสมชาย เสียชีวิตแล้ว หลังจากดีเอสไอพบร่องรอยบางอย่าง

นั่นคือการยืนยันของคนเป็นนายกฯ

ทนายสมชาย มีบทบาทสูงในการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้

และหายตัวไปช่วงที่ รัฐบาลทักษิณ ก่อความเลวร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการจุดไฟใต้รอบใหม่ขึ้นมา

ฉะนั้นคนไทยต้องขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับกฎหมายอุ้มหาย

กฎหมายฉบับนี้สามารถแก้ปัญหาอุ้มหายได้หรือไม่

ได้ครับ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

อุ้มแบบเถื่อน โดยตำรวจนอกเครื่องแบบ อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติหาทางแก้ไว้แล้วหรือยัง?

ครับ…วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ หากเพื่อไทยและฝ่ายค้านทำให้สภาล่มได้ ร่าง พ.ร.ก.ไม่ผ่าน รัฐบาลมี ๒ ทางเลือก

ยุบสภา กับ ลาออก

Written By
More from pp
ว่าที่ ส.ส.อรรถกร ขอบคุณเสียง ปชช.เขต 2 ฉะเชิงเทรา เร่ง ทำงานสางปัญหาราคากุ้งช่วยเกษตรกรรายย่อยทันที
26 พฤษภาคม 2566 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ฉะเชิงเทรา เขต 2 หนึ่งในว่าที่ส.ส.พปชร. ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนของชาวฉะเชิงเทรา และเป็นหนึ่งในผู้สมัครที่สามารถฝ่าการแข่งขันสูงในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา...
Read More
0 replies on “ย้อนอดีต ‘อุ้มหาย’ – ผักกาดหอม”