11 มกราคม 2566- นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน)
โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล.
พร้อมด้วยหน่วยงานภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี และมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อการพัฒนาไปสู่ระบบรถไฟฟ้า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ
รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อให้สอดรับการกับเปลี่ยนแปลงทั้งทางการแข่งขันทางการค้า การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมอบหมายให้ รฟท. ดำเนินการศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) โดยการประกอบหัวรถจักรที่ติดตั้งระบบแบตเตอรี่และสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้เอง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานเอกชนของไทย
ตามนโยบาย Thai First จนเกิดเป็นหัวรถจักร EV ต้นแบบคันแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565 และพร้อมสำหรับการทดสอบการใช้งานในการลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในวันนี้ และภายในปี พ.ศ. 2566 จะดำเนินการประกอบหัวรถจักรเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 คัน รวมหัวรถจักรทั้งสิ้น 4 คัน โดยหัวรถจักรดังกล่าวหากชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสรรถนะในการลากจูง
ขบวนรถโดยสารได้ในระยะทาง 150 – 200 กิโลเมตร และประหยัดต้นทุนพลังงานร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถจักรดีเซลทั่วไป นอกจากนี้ รฟท. ได้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) จำนวน 50 คัน โดยได้ดำเนินการส่งมอบรถจักรแล้วจำนวน 20 คัน เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อตรวจรับขบวนรถ และจะได้มีการส่งมอบในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 30 คัน ภายในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป ทั้งนี้ ขอมอบนโยบายให้กรมการขนส่งทางราง รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินงานและขั้นตอนในการนำรถไฟ EV on Train มาใช้ในประเทศไทยให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป