เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 เวลา 14.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพ ปชป. “จุรินทร์ออนทัวร์ บางกอกน้อย” ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม ฟัง-คิด-ทำ พร้อมกับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยสมาชิกพรรค
โดยได้เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. วัดสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย โดยมีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นผู้ประสานงาน
ซึ่งภายในศูนย์ฝึกอาชีพดังกล่าว นายจุรินทร์ ได้เยี่ยมชม แวะทักทายพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. วัดสุทธาวาส ทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสอนทำเล็บ กลุ่มสอนทำดอกไม้ประดิษฐ์ กลุ่มระบายสีน้ำ ทำให้บรรยากาศการเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพในวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เป็นกันเอง
นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังได้ร่วมทดลองติดเล็บที่นิ้วก้อยเป็นลวดลายกระต่าย ไปจนถึงระบายสีดอกโบตั๋น และตำสมุนไพรสำหรับทำลูกประคบด้วย
จากนั้นนายจุรินทร์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ที่มาวันนี้ก็คือมาเยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่วัดสุทธาวาส ซึ่งนายชนินทร์ รุ่งแสง ได้เป็นผู้ริเริ่ม และจัดหางบประมาณมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปี 46 ตอนที่เป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)
ซึ่งศูนย์นี้ก็ยังดำรงอยู่จนถึงวันนี้ และมีส่วนสำคัญมากในการเป็นต้นแบบสำหรับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเดินหน้าสร้างอาชีพ ฝึกอาชีพให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เฉพาะที่นี่ ปีนึงก็สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนที่มาฝึกประมาณ 4,000 คน
ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่น้อย และมีหลากหลายองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันทีในเวลาไม่นาน ตั้งแต่อาชีพทำเล็บ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำอาหาร ทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ รวมไปถึงอาชีพวาดรูป เป็นต้น
“ในเรื่องของภาคการผลิต ก็สามารถผลิตได้เป็นอย่างดี มีครูมาสอน และมีคุณภาพอยู่แล้ว แต่ที่ต้องเติมต่อไปคือเรื่องการตลาด เรื่องนี้จะได้ประสานให้กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามามีส่วนช่วยเสริมด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดออฟไลน์ หรือตลาดออนไลน์
เพราะภาคการผลิตควรควบคู่กับภาคการตลาด และหลักการสำคัญที่เดินอยู่ขณะนี้ก็คือตลาดนำการผลิต แต่ก็ให้มีอัตลักษณ์ของการออกแบบการผลิตควบคู่ไปด้วย
ซึ่งเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็สามารถสร้างศูนย์ฝึกอาชีพเหล่านี้เพิ่มเติมได้ต่อไปในอนาคต และสามารถส่งเสริมให้ชุมชนที่สนใจสามารถทำรายได้ทั้งจากการผลิตสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์พื้นที่ และสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ด้วย จะเป็นทั้งแหล่งผลิตชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์ และขายซอฟต์พาวเวอร์ด้วยสำหรับกรุงเทพมหานคร” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว