รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง ขอบคุณบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศที่ช่วยดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 กำชับพัฒนาโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลให้พร้อมดูแลประชาชนที่ประสบเหตุเร่งด่วน/ฉุกเฉิน พร้อมรุกดำเนินการให้ข้อมูลสุขภาพเป็นของประชาชน ตั้งเป้าเป็นองค์กรแรกๆ ของรัฐบาลที่จะเกิด Digital Transformation
4 มกราคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งแรกของปี 2566 ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา
ขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรสาธารณสุขที่ช่วยให้การดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลเป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับการประชุมผู้บริหารครั้งแรกของปี ได้ทบทวนผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ที่มีการเปิดประเทศ ปรับสถานะของโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อันเป็นผลจากการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจำนวนมาก และมีการบริหารสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้ที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเปิดประเทศของจีน มั่นใจว่าจะผ่านสถานการณ์ไปได้ด้วยดี ด้วยการสร้างความเข้าใจในมาตรการและเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์
“สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก พบว่าแทบทุกประเทศเข้าสู่การดำเนินการตามมาตรการปกติ การรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจึงยึดแนวทางด้านการแพทย์ในการกำหนดมาตรการต่างๆ โดยคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าร่วมกันได้ พร้อมกับรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนเพิ่มภูมิคุ้มกัน สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติต่อไป” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้กำชับการดำเนินงานสำคัญอีกหลายเรื่อง ได้แก่
1.การพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดในพื้นที่ห่างไกลให้มีความพร้อมดูแลประชาชนในสถานการณ์เร่งด่วน/ฉุกเฉิน
2.การสื่อสารปี 2566 เป็นปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย ให้ประชาชนได้ทราบและใช้สิทธิอย่างทั่วถึง ทั้งการคัดกรองสุขภาพ การจัดให้มีคลินิกผู้สูงอายุ และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
3.การสื่อสารทำความเข้าใจกรณีต้องชะลอการจัดสรรงบบัตรทองสำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เฉพาะในส่วนของประชากรที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง เพื่อรอความชัดเจนทางกฎหมายจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา
4.การทำให้ข้อมูลสุขภาพเป็นของประชาชน มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเองและใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่อย่างต่อเนื่อง
ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล โดยเร่งพัฒนา One Platform ของกระทรวง และผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรแรกๆ ของรัฐบาลที่จะเกิด Digital Transformation มีการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาขับเคลื่อนให้เป็นประโยชน์ทั้งในการให้บริการและการพัฒนาองค์กร