โรคไตเรื้องรัง ตรวจพบแต่แรกมีโอกาสหายขาด แถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังจากจุฬาฯ ใช้ง่ายรู้ผลใน 15 นาที

คณะวิจัย จุฬาฯ พัฒนาแถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น ใช้ง่าย รู้ผลไว เพิ่มโอกาสหายขาดจากโรค และยังช่วยลดงบสาธารณสุขปีละกว่าหมื่นล้านบาทที่ใช้กับผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มขึ้นทุกปี เล็งจำหน่ายต้นปีหน้า

โรคไตเรื้อรัง เป็นภัยเงียบที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละปี ประมาณการณ์ว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตประมาณ 17 % ของจำนวนประชากรหรือราว 8 ล้านคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่อาการยังไม่ปรากฎ จึงไม่ไปตรวจและยังคงดำเนินพฤติกรรมซ้ำเติมไตให้ถดถอยลงไปเรื่อยๆ

“กว่าร่างกายจะแสดงอาการที่บ่งชี้ถึงโรคไตเรื้อรัง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยและตัวบวม ผู้ป่วยก็เข้าสู่ระยะค่อนข้างหนักซึ่งไตทำงานได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้น ระยะของโรคมีความสำคัญต่อผลการรักษา หากตรวจพบอาการโรคไตเรื้อรังได้ตั้งแต่ระยะแรก ก็จะสามารถชะลอความเสื่อมของไตได้ดีกว่าและมีโอกาสที่จะหายขาดจากโรคได้สูงมาก” รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโอกาสในการลดจำนวนผู้ป่วยไตในประเทศ

รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย เผยว่าปัจจุบัน สำนักหลักประกันสุขภาพและสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติใช้งบราว 10,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในการฟอกไตทั้งทางเส้นเลือดและทางหน้าท้อง ซึ่งคาดว่างบส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 500 ล้านบาท เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 200,000 บาท/ปี) หากยังไม่มีมาตรการใดๆ หยุดยั้งแนวโน้มโรคไตเรื้อรัง งบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็จะไม่เพียงพอ

ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รศ.ดร.ณัฐชัย จึงได้ร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร. กิตตินันท์ โกมลภิส สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนา“นวัตกรรมแถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น” เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังได้ด้วยตัวเอง

“หากมีชุดตรวจที่เข้าถึงได้ง่ายก็จะทำให้คนไข้ตระหนักถึงโรคไตได้ดีขึ้น และเข้ารับการรักษาได้เร็วโดยไม่ต้องรอให้หนักถึงขั้นที่ต้องใช้การฟอกไต หากนำไปใช้ได้จริง จะทำให้รัฐบาลใช้งบประมาณในการฟอกไตผู้ป่วยลดลง”

แถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง ใช้ง่าย รู้ผลเร็ว

วิธีการตรวจโรคไตเรื้อรังโดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ การเจาะเลือดซึ่งใช้เวลานานและผู้ป่วยต้องเดินทางมารับบริการที่สถานพยาบาล อีกวิธีเป็นการตรวจโดยใช้ปัสสาวะ ซึ่งชุดตรวจที่มีในตลาดจะเป็นการตรวจจากโปรตีนในปัสสาวะ ไม่ใช่การตรวจไมโครอัลบูมินซึ่งมีความจำเพาะต่อโรคไตเรื้อรังมากกว่า และแม้ว่าที่โรงพยาบาลจะมีการตรวจอัลบูมินเหมือนกัน แต่การอ่านผลต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น   “นวัตกรรมแถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นเป็นการตรวจหาโปรตีนไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Micro albuminuria) ซึ่งเป็นสารที่บ่งชี้โรคไตเรื้อรังได้ชัดเจนที่สุด”

“ผู้ป่วยสามารถตรวจคัดกรองโรคและอ่านผลได้เองที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องเจ็บตัวเนื่องจากเป็นการตรวจจากปัสสาวะ การใช้งานก็ง่ายคล้ายกับการใช้แถบตรวจการตั้งครรภ์ ที่มีขายในท้องตลาด ผู้ตรวจเก็บปัสสาวะในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอนหรือก่อนทานอาหารเช้า และหยดปัสสาวะ 3 หยดลงไปบนแถบตรวจ รอผลเพียง 15 นาที หากมีค่าไมโครอัลบูมินผิดปกติจะมีแถบขึ้น 1 แถบ แต่หากมีค่าไมโครอัลบูมินอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีแถบขึ้น 2 แถบ”  รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย อธิบายวิธีการใช้แถบตรวจและอ่านผลแถบตรวจ

จากผลการวิจัยที่นำไปใช้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ที่ไม่ได้เป็นโรค พบว่าชุดตรวจมีความไว 86 เปอร์เซ็นต์ ความจำเพาะ 94 เปอร์เซ็นต์ และความถูกต้อง 87 เปอร์เซ็นต์ โดยได้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวารสารทางการแพทย์แล้ว และเร็วๆ นี้ ก็จะมีการทดสอบนวัตกรรมแถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นในชุมชนกับผู้ป่วยจำนวนประมาณ 2,500 คน

ใครบ้างควรใช้แถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง

แม้ระยะเริ่มต้นโรคไตเรื้อรังจะไม่แสดงออก แต่กลุ่มที่ควรตรวจคัดกรองคือผู้ที่มีโรคหรือสภาพร่างกายที่อาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

“คนกลุ่มนี้ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่จะได้รับทราบการทำงานของไตและหาทางรับมือได้อย่างทันท่วงที” รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย แนะ

นอกจากกลุ่มเสี่ยงข้างต้นแล้ว กลุ่มวัยรุ่นและผู้อยู่ในวัยทำงานก็ประมาทไม่ได้ โดยเฉพาะหากเป็นผู้ที่ไม่ระวังในการรับประทานอาหาร บางคนอาจมีภาวะโรคไตเรื้อรังซ่อนอยู่ก็ได้ ถ้ามีโอกาสก็ควรเข้ารับการตรวจด้วยเช่นกัน ตามปกติแล้วเมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของไตก็จะลดลงไปด้วย

ปรับพฤติกรรม กุญแจสู่การดูแลสุขภาพไต

รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย แนะว่าเมื่อตรวจพบภาวะโรคไตเรื้อรัง สิ่งแรกที่ควรทำคือตรวจการทำงานของไตเพิ่มเติมว่าเป็นในระยะใดแล้ว ซึ่งต้องใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจและตรวจปัสสาวะที่ละเอียดขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น ผู้ป่วยต้องปรับพฤติกรรมตนเอง

“การปรับพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การปรับการรับประทานอาหาร งดอาหารที่มีน้ำตาล มีรสเค็ม และเนื้อสัตว์ หากต้องการทานโปรตีน ให้ทานโปรตีนจากไข่ขาวหรือเนื้อปลาแทน นอกจากการควบคุมอาหารแล้วจำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย” รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย แนะ

“ส่วนผู้ที่ยังไม่เป็นโรคไต การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเช่นกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม เนื่องจากการทานเค็มจะทำให้ไตทำงานมากขึ้นเพื่อขับเกลือออก หากไตไม่สามารถขับเกลือออกได้ก็จะทำให้เกิดภาวะบวม ความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตเกิดภาวะเสื่อมลง”

รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ยกตัวอย่างการรับประทานอาหาร “สำหรับคนปกติที่ต้องการบริโภคน้ำปลา ไม่ควรกินเกิน 3 ช้อนชา หรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน ส่วนน้ำปลาที่มีการโฆษณาว่ามีโซเดียมน้อย ก็ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังไปแล้ว เพราะน้ำปลาที่โซเดียมต่ำมักจะมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งก็ไม่ดีต่อการทำงานของไตเช่นเดียวกัน จึงควรตรวจสอบด้วยว่าน้ำปลาที่โซเดียมต่ำยี่ห้อนั้นมีโพแทสเซียมต่ำด้วยหรือไม่

“ส่วนคนที่ต้องการทานเวย์โปรตีนก็ต้องเลือกชนิดของเวย์โปรตีนด้วย แม้แต่คนทั่วไปถ้าไปกินเวย์โปรตีนมากๆ เกิดเป็นส่วนเกิน ก็จะทำให้ไตทำงานหนักได้เช่นกัน”

ปัจจุบัน แถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งหากสามารถจดทะเบียนผ่านได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะเผยแพร่จำหน่ายเพื่อใช้งานได้ในต้นปีหน้า โดยราคาของแถบตรวจจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงไปกว่าราคาของชุดตรวจที่มีอยู่ในท้องตลาด แต่ในอนาคต คณะวิจัยกำลังหาวิธีเพิ่มกำลังการผลิตสารที่ใช้สำหรับตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะที่ทำเองได้ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะทำให้ราคาแถบตรวจต่ำลง

“นอกจากจะตั้งใจให้ผู้สนใจซื้อชุดตรวจนี้ไปใช้เองที่บ้านแล้ว เราหวังว่าจะมีการนำชุดตรวจนี้เข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกคน รวมถึงคนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลที่อาจจะเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วแต่ไม่มีอาการใดๆ สามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาตรวจที่โรงพยาบาล” รศ.ดร.นพ.ณัฐชัย กล่าวทิ้งท้าย


Written By
More from pp
มิวเซียมสยาม ชวนคนไทยร่วมลุ้นงานประกาศรางวัล Museum Thailand Awards 2021 ในรูปไลฟ์สดผ่านเพจ Museum Thailand
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ชวนคนไทยร่วมลุ้นงานประกาศผลรางวัลยิ่งใหญ่แห่งปี Museum Thailand Awards 2021 ภายใต้ แนวคิด “Reimage Relearn Reinvent : เปลี่ยนร่าง เปลี่ยนรู้ เปลี่ยนชีวิต...
Read More
0 replies on “โรคไตเรื้องรัง ตรวจพบแต่แรกมีโอกาสหายขาด แถบตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังจากจุฬาฯ ใช้ง่ายรู้ผลใน 15 นาที”