ทางสองแพร่ง ‘ม.๑๑๒’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

นั่นไง…

กลับเข้าสภาก็วาดลวดลายทันที

ก็เอาใจช่วยครับ ในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรัฐบาลอย่างขยันขันแข็ง

ยิ่งเป็นรัฐบาลเพื่อไทยด้วยแล้ว ยิ่งต้องจับตาเข้มข้นทวีคูณ เพราะประวัติรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเสียไว้เยอะ

แต่ก่อนที่จะตรวจสอบรัฐบาล ต้องจัดการภายในพรรคก้าวไกลให้มีความสมดุลก่อน

ไม่งั้นพัง!

เอาให้ชัดว่า “พิธา” จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้งหรือไม่

ถ้าไม่ ก็อย่าทำให้เกิดภาพ “ชัยธวัช ตุลาธน” มีสถานะเป็นเพียง หัวหน้าฝ่ายธุรการ ของพรรคก้าวไกล

รวมทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะเปลี่ยนตัวหรือไม่

ก็คงต้องว่ากันหลังวันที่ ๓๑ มกราคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดี “พิธา-ก้าวไกล” เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ถ้าผ่าน พรรคก้าวไกลควรปรับขบวนใหม่

ที่เป็นห่วงไม่ใช่อะไรครับ

เกรงจะไปซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็เป็นเพียง หัวหน้าฝ่ายธุรการของพรรค

ถูกหัวหน้าพรรคตัวจริงชักใยอยู่ข้างหลัง พรรคซึ่งอ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่ควรบริหารพรรคในลักษณะเช่นนี้

พรรคก้าวไกลทำท่าจะเป็นเช่นนั้น

หลังกลับสภาได้วันเดียว บทบาทของ “พิธา” ถูกยกมาเหนือ “ชัยธวัช” ในทันที

วานนี้ (๒๖ มกราคม) มีการแถลงจุดยืนการตรวจสอบรัฐบาล

“พิธา” ไปไกลถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว เน้นไปที่ ๓ หัวข้อใหญ่คือ

๑.ความล้มเหลวในการบริหาร

๒.การประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน

และ ๓.การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ

แต่เรื่องเดียวกันนี้กลับไม่เคยได้ยินจากปาก “ชัยธวัช”

ครับ…นั่นคือเรื่องภายในของพรรคก้าวไกล

มาดูเรื่องที่พ้นจากพรรคก้าวไกลกันบ้าง

มีประเด็นต้องถามไปยัง “พิธา” เพื่อคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง

เพื่อต้องการคำยืนยันว่า เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้องแล้วใช่หรือไม่

คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “นักโทษชายทักษิณ”

มีคำถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การตรวจสอบของพรรคก้าวไกลค่อนข้างที่จะอ่อนแอลง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องของทักษิณ

คำตอบจาก “พิธา” ว่า

“…ไม่เป็นความจริง เรายังทำงานอย่างตรงไปตรงมา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดไปในสภาฯ แล้ว

ผมมองว่าเป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ต้องการให้กลายเป็นเรื่องของความสะใจ แต่จะให้ความสำคัญกับระบบที่ควรจะมีความเสมอภาคของคนที่โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง

รวมถึงคนที่โดนลี้ภัยไปต่างประเทศที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและไม่สามารถกลับบ้านได้ ควรที่จะได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนและโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน เราพยายามทำงานตรงนี้ให้ไปข้างหน้าให้ได้

ต้องยอมรับว่าคุณทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยความสองมาตรฐานเช่นเดียวกัน

ไม่ได้หมายความว่าความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ สามารถไปล้มล้างความสามารถความสองมาตรฐานในอดีต เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งก่อนและหลัง…”

ประเด็นแรก ไม่แปลกใจอะไรเลย นับแต่พรรคอนาคตใหม่ยันพรรคก้าวไกล แทบไม่เคยพูดถึงการคอร์รัปชันในรัฐบาลระบอบทักษิณเลย

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่นายกฯ หนี รัฐมนตรีติดคุก ข้าราชการติดร่างแหยกเข่ง

ก็เพราะคนอย่าง “พิธา” หรือแม้กระทั่ง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มองว่า “ทักษิณ” ถูกรังแก ด้วยยุติธรรมสองมาตรฐาน

แน่นอนครับ พรรคก้าวไกลโดยการนำของ “พิธา” ไม่ได้มองว่า “น.ช.ทักษิณ” คอร์รัปชัน แต่เรื่องทั้งหมดมาจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง

ทัศนคตินี้จึงสะท้อนการทำงานของ “พิธา” ในฐานะฝ่ายค้านด้วย

การตรวจสอบคอร์รัปชันของรัฐบาลเศรษฐาจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ “พิธา” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะการตีรัฐบาลเศรษฐา ย่อมกระเทือนไปถึง “น.ช.ทักษิณ” ผู้เคยมีพระคุณ

อีกประเด็นที่ “พิธา” เปิดออกมาคือ คนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและไม่สามารถกลับบ้านได้

“พิธา” บอกว่าควรที่จะได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน!

ถูกต้องครับ ทุกคนได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันทันที หากทั้งหมดเดินทางกลับประเทศไทย

แต่อาจต้องยก “นักโทษเทวดา” ไว้คนหนึ่ง เพราะคนนี้อยู่เหนือกฎหมาย และเหนือรัฐบาล

คนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศตามที่ “พิธา” พูดถึง ส่วนใหญ่หนีคดี ม.๑๑๒ แทบทั้งสิ้น

บางคนยังไปก่อความผิด ม.๑๑๒ เพิ่มเติ่มที่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

นี่คือกลุ่มที่ “พิธา” มีความกังวลว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

เมื่อคดี ม.๑๑๒ ถูกทำให้เป็นคดีการเมือง และสร้างภาพที่น่ากลัวขึ้นมา มันก็สะท้อนกลับไปหาคนทำผิด ม.๑๑๒ เอง

คนที่ไปแล้วจึงไปลับ ไม่กลับมาหรอกครับ

จะกลับก็คงกรณีเดียว พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ที่นิรโทษกรรมผู้ทำผิด ม.๑๑๒ ด้วย ผ่านสภาฯ ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย

การกลับมาของ “พิธา” จึงเป็นการกลับมาที่ยังวนเวียนอยู่กับ ม.๑๑๒ อีกครั้ง

หากรอดวันที่ ๓๑ มกราคมนี้ไปได้ การปลุกกระแสแก้ ม.๑๑๒ จะถูกยกระดับขึ้นกว่าที่เป็นมา ชนิดที่หลายๆ คนคาดไม่ถึง

โอกาสแก้หรือยกเลิก ม.๑๑๒ ก็มีความเป็นไปได้มากกว่าเดิม

ภารกิจที่แท้จริงของพรรคก้าวไกล จึงอาจไม่ใช่การตรวจสอบรัฐบาลเศรษฐา

แต่คือการจัดการกับ ม.๑๑๒ เพื่อเปิดทางไปสู่ภารกิจที่ใหญ่กว่า

คือเปลี่ยนประเทศไทย

0 replies on “ทางสองแพร่ง ‘ม.๑๑๒’ – ผักกาดหอม”