รู้เท่าทัน 3 โรคเข่ายอดฮิต รับมือปัจจัยเสี่ยง

“ปวดเข่า” ถือว่าเป็นอาการยอดฮิตของคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากเข่าเป็นอวัยวะที่ใช้รับน้ำหนักตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ก็มีการใช้เข่าและข้อเข่าในหลายลักษณะ อาการปวดเข่าเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อมของกระดูกและข้อเข่า , การปวดเข่าเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ , การออกกำลังกาย , พฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน รวมถึงการปล่อยให้น้ำหนักตัวมากจนเกินไป ส่งผลผู้ป่วยเข้ารับรักษาอาการจาก “โรคเข่า” เป็นจำนวนมาก

นายแพทย์ธนรัตน์ เหรียญเจริญ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการปวดเข่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีวิธีการดูและรักษาที่แตกต่างกัน เป็นอาการที่สร้างความทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคเข่าที่พบได้บ่อยมี ดังนี้

โรคข้อเข่าเสื่อม

ส่วนใหญ่พบในกลุ่มของ “ผู้สูงอายุ” ที่ไม่ได้รับการรักษาแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน เกิดจากกระดูกอ่อนสึกหรอทำให้มีอาการปวดเข่าเรื้อรัง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการข้อเข่าติดขัด เกิดเสียงดังในข้อเข่าขณะขยับเคลื่อนไหว บางรายอาจจะเริ่มปวดทีละข้างหรือปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง

การรักษาข้อเข่าเสื่อมมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการและระยะของโรค หากมีอาการไม่รุนแรงมากนักแพทย์จะรักษาด้วยยา แพทย์จะแนะนำท่ากายภาพบำบัดที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยลดการใช้งานเข่า ส่วนกลุ่มที่มีอาการปานกลางแพทย์ที่ไม่ถึงขั้นผ่าตัด แพทย์จะแนะนำใช้วิธีการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการฉีดสาร Hyaluronic Acid ซึ่งเป็นสารน้ำที่มีอยู่ในน้ำข้อของเรา จะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ดีขึ้น และอีกหนึ่งวิธีที่เรียกว่า การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP ที่ได้จากเลือดของ ผู้ป่วยเอง เป็นการรักษาอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นของข้อเข่า

หากวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือมีลักษณะข้อเข่าเสื่อมมาก ข้อเข่าผิดรูป แพทย์จะแนะนำให้ “ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม” เป็นการเอาผิวข้อที่สึกออกไปและทดแทนด้วยผิวข้อเทียม ทำให้ผู้ป่วยสามารถลุกยืน เดิน หรือขยับข้อเข่าได้ในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty หรือ UKA) และ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty หรือ TKA) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเสื่อม รวมถึงในบางกรณีมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการผ่าตัดทั้งคอมพิวเตอร์นำร่องช่วยผ่าตัด (Computer Assisted Surgery) หรือหุ่นยนต์นำร่องช่วยผ่าตัด (Robotic Assisted Surgery) ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมีความถูกต้อง แม่นยำ และช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเทียมมากยิ่งขึ้น

โรคเอ็นเข่าอักเสบ

เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ควรมองข้าม เกิดจากการใช้งาน “ข้อเข่า” ในลักษณะซ้ำ ๆ เกิดจากอุบัติเหตุทำให้เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง การเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อเข่าอย่างหนัก เช่น การวิ่ง ฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น รวมถึงการไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายด้วย การเคลื่อนไหวร่างกายผิดท่า การหกล้มอย่างรุนแรง และผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมหรือมีอาการเข่าบิดด้านในนั้น จะมีโอกาสเกิดอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบค่อนข้างสูง ปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดเข่า มีจุดกดเจ็บ และจะอาการปวดมากเวลางอหรือขยับข้อเข่า บางรายมีอาการเดินลำบาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรพักการใช้งานเข่า ประคบเย็น อาการเหล่านี้จะดีขึ้นและสามารถหายได้เองได้ในเวลา 2-3 วันขึ้นไป หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจรับการรักษา

โรคเกาต์

เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ สาเหตุสําคัญมาจากกรรมพันธุ์ การทํางานของไตลดลง รวมถึงเมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ยอดผัก สัตว์ปีก เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล อาจจะไม่ใช่สาเหตุที่ทําให้กรดยูริกในเลือดสูงโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคเกาต์กําเริบสามารถทำให้เกิดข้ออักเสบเฉียบพลันได้ จนเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า หรือตามข้อต่าง ๆ เช่น ข้อเท้า หรือ ข้อเข่า อาการมักจะปวดฉับพลัน ปวดเพียงข้อเดียวข้างใดข้างหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยการรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีกรดยูริกสูง และแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการควรมาพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมี “อาการปวดเข่า” เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปวดจาก 3 โรคข้างต้น หรือไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมีอาการผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง หรือมีโรคบางอย่างแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายมากขึ้นได้

Written By
More from pp
รัฐบาลแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ กรณีจ่าสิบเอก พกปืนยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บภายในวิทยาลัยกองทัพบก
14 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต กรณีจ่าสิบเอก ยงยุทธ มังกรกิม...
Read More
0 replies on “รู้เท่าทัน 3 โรคเข่ายอดฮิต รับมือปัจจัยเสี่ยง”